เรียบเรียงโดย ณัฏฐา พาชัยยุทธ
นักพัฒนาระบบราชการ 7 สำนักงาน ก.พ.ร.
นายทศพร ดิเรกสุนทร
เจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณ 5 สำนักงบประมาณ
บทนำ
รัฐบาลทำหน้าที่เป็นผู้ใช้จ่ายเงินงบประมาณในแต่ละปี เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและจัดการบริการให้แก่ประชาชน ทั้งนี้ เนื่องจากเงินงบประมาณในแต่ละปีมีจำกัดทำให้งบประมาณที่จะนำไปใช้ในการลงทุนของภาครัฐมีน้อยเมื่อเทียบกับงบประมาณทั้งหมด หากรัฐบาลต้องการที่จะเพิ่มการลงทุนให้มากขึ้น ก็ทำได้โดยการตัดค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นลง กู้เงินจากทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนมากที่สุดก็คือ การขึ้นภาษี ดังนั้นการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์ จึงจำเป็นจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากเป็นการลงทุนที่มีมูลค่าสูงและทำให้เสียโอกาสในการลงทุนตามนโยบายอื่นซึ่งอาจก่อให้เกิดประโยชน์หรือผลตอบแทนทางสังคมที่สูงกว่าเอกสารฉบับนี้จึงขอนำเสนอ Capital Charge หรือค่าธรรมเนียมในการถือครองสินทรัพย์ของหน่วยงานภาครัฐซึ่งเป็นเครื่องมือบริหารการเงินชนิดหนึ่งที่สามารถนำมาใช้กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้การบริหารสินทรัพย์ขององค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
Capital Charge เป็นค่าธรรมเนียมรายปีในการถือครองสินทรัพย์ ที่เรียกเก็บจากหน่วยงานภาครัฐ โดยอัตราค่าธรรมเนียมอาจคิดจากร้อยละของมูลค่าของสินทรัพย์ ตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษใช้อัตราส่วนร้อยละ 6 ของมูลค่าสินทรัพย์ ซึ่งการคิดค่าธรรมเนียมนี้จะไม่ผลักภาระไปสู่ประชาชนผู้เสียภาษีโดยเด็ดขาด แต่จะเป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐปรับปรุงการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อลดภาระหนี้สินที่จะเกิดขึ้นจากค่าธรรมเนียมในการถือครองสินทรัพย์