นิยาม “คนพันธุ์ใหม่” NEXT GENERATION LEADERS
นิยามแห่ง “มนุษย์พันธุ์ใหม่” ในโครงสร้าง “ข้าราชการ”
เพียงคำนิยามจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์, นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ และ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ก็ทำให้หนังสือ “NEXT GENERATION LEADERS คนพันธุ์ใหม่ ที่ไม่ธรรมดา” ได้รับความสนใจยิ่งอยู่แล้วยิ่งเมื่อพลิกไปภายในเล่มได้พบกับข้อเขียนของ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นางผาณิต นิติทัณฑ์ประภาส อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นางพรนิภา ลิมปพยอม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวณิช เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ยิ่งทำให้ข้อความที่โปรยบนหน้าปกหนังสือว่า “กะเทาะความคิด ชีวิต ความหวัง ของหนุ่มสาวผู้สร้างสรรค์ นิยามใหม่ให้ราชการไทย”ทวีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เพราะภายในเล่มเป็นการสัมภาษณ์และการแสดงความเห็นของ นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง น.ส.มาลินวิษา ศักดิยากร แห่งกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ นายกิติรัตน์ ภาณุพงศ์ แห่งกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ดร.พิมพ์เพ็ญ ลัดพลี แห่งกระทรวงการคลัง ช่วยราชการรองนายกรัฐมนตรี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ช่วยราชการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อย่าได้แปลกใจหากบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ คือ นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ อย่าได้แปลกใจ หากรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม จะเขียนในตอนหนึ่งของหนังสือว่า “วันนี้ รัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะสร้างสิ่งดึงดูดให้คนเก่งๆ อยู่กับระบบราชการให้มากที่สุด ซึ่งเป็นความคิดของท่านนายกฯ ทักษิณ ทั้งในเรื่องของระบบ Fast Track ที่จะมีการประเมินข้าราชการ ถ้าเขาเก่ง ก็จะเติบโตได้เร็ว “อีกระบบหนึ่งที่กำลังพยายามทำคือ Special Track เพื่อดึงคนเก่งๆ จากภาคเอกชนที่อยากสัมผัสกับชีวิตราชการเข้ามาเป็นผู้บริหารระดับสูงด้วยวิธีพิเศษ โดยมีการเซ็นสัญญาและมีกำหนดเวลาที่แน่ชัดเหมือนการจ้างคนมาเป็นผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ” ในความเห็นของรองนายกรัฐมนตรี ดร.วิษณุ เครืองาม “ในการรักษาและพัฒนาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสให้เขามากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้เขาได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่โดยต้องเปิดใจกว้าง รับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่ แล้วหากเห็นว่ามีอะไรที่ไม่ถูกต้องก็ค่อยติงและแนะนำกันไป “ในไม่ช้า คนเหล่านี้ก็จะกลายเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ที่จะมีคนรุ่นใหม่กว่าเข้ามาแทนที่และจะผสมผสานกันอย่างกลมกลืนในที่สุด” ที่ควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษ นอกเหนือจาก “ความเห็น” ของข้าราชการอันถือว่าเป็น “คนพันธุ์ใหม่” แล้ว น่าจะเป็นบทว่าด้วย “นิยามคนพันธุ์ใหม่” อันเป็นนิยามจาก นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ ซึ่งทำหน้าที่เป็น “บรรณาธิการ” เป็น “นิยาม” ที่ชี้ให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า “คนพันธุ์ใหม่” มิใช่หมายถึงแค่คนที่คิดเลขเก่ง หรือต้องสอบได้ที่เลขเดียวของชั้น มิใช่วัยรุ่นที่แต่งตัวกิ๊ปเก๋ ล้ำหน้าแฟชั่น มิใช่คนที่หัวสูง หยิ่งผยอง ไม่รับฟังผู้อาวุโส และมิใช่คนที่คลั่งไคล้เทคโนโลยีจนไม่ลืมหูลืมตาแต่ “คนพันธุ์ใหม่” ที่จะเป็นผู้เปิดโฉมใหม่ของสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมแห่งปัญญาโดยมี “สมอง” เป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ในความเห็นและบทสรุปของ นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ มีอยู่ 7 ประการ ประสานเข้าด้วยกัน ดังนี้คือ
1. มีพลวัตสูง ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ได้เป็นแบบเส้นตรงบนระนาบเดิม และมักอยู่เหนือความคาดเดา โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมายเหลือคณานับ ในยุคที่โลกนี้แข่งขันกันบนฐานของความรู้ และความเร็ว มากกว่าจะแข่งกันที่ความได้เปรียบจากขนาด (Economy of Scale) หรือความได้เปรียบจากขอบเขตธุรกิจ (Economy of Scope) เหมือนแต่ก่อน วิวัฒนาการเหล่านี้ทำให้เด็กรุ่นใหม่กลายพันธุ์ เป็นคนที่มีความคล่องตัวและมีความยืดหยุ่นสูง ไวต่อสิ่งใหม่ๆ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ทำอะไรรวดเร็วและแม่นยำ มักเป็นคนที่ไม่อยู่นิ่ง ชอบขวนขวายใฝ่หาความรู้ สนใจเรื่องของประเทศชาติบ้านเมือง ตื่นตัวที่จะพัฒนาตนเองและองค์กรอยู่เสมอ ชอบความท้าทาย ชอบการแข่งขัน และมีความเชื่อว่า “พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้”
2. เชื่อว่า “ฉันทำได้” ในขณะที่ข้าราชการแบบดั้งเดิมมักจะชอบ Say “NO” ต่องานที่ยาก หรืองานที่แปลกใหม่ ไม่เคยมีใครทำมาก่อน โดยบ้างก็ยกเหตุผลข้อจำกัดด้านกฎระเบียบ บ้างก็อ้างว่าขัดต่อประเพณีปฏิบัติแบบเดิมๆ บ้างก็ย่อท้อต่อความขาดแคลนทรัพยากรเงินและคน ทั้งที่จริงๆ แล้ว งานเหล่านี้สามารถทำให้สำเร็จได้ ถ้าใช้ความพยายาม และการมองหาช่องทางและวิธีการใหม่ๆ คนพันธุ์ใหม่จะมีทัศนคติเป็นบวก หรือที่เรียกว่า “CAN DO” Attitude ชอบงานยากงานท้าทาย มองความสำเร็จของงานเป็นที่ตั้ง และแสวงหาทางที่ทุกฝ่ายและประเทศชาติจะได้ประโยชน์ร่วมกัน ความคิดจะไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเดิมๆ ไม่นำปัญหาเล็กมาเป็นอุปสรรคในการทำงานใหม่ และรู้จักคิดดักปัญหาอยู่ตลอดเวลา คนกลุ่มนี้จะมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง กล้าท้าทายตัวเอง กล้า “แตกต่าง” จากสิ่งที่เป็นอยู่เดิม กล้าริเริ่ม กล้าเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น กล้ารับฟังความเห็นที่แตกต่าง กล้ารับทั้งผิดและชอบ กล้าฝัน และมุ่งมั่นทำความฝันให้เป็นความจริง
3. มีความสามารถรอบตัว ด้วยความที่ระบบการสื่อสาร ระบบคมนาคมขนส่ง และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ได้พัฒนาขึ้นมาก ทุกวันนี้มีสารพัดเครื่องมือที่ใช้ในการแสวงหาความรู้ คนสมัยนี้จึงมีโอกาสได้มองเห็นโลกกว้างและรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากกว่าสมัยก่อนๆ เยอะ อีกทั้งเป็นยุคที่มีการแข่งขันสูง ทั้งพ่อแม่ และโรงเรียนจึงมักให้เด็กเรียนทุกอย่างที่ขวางหน้า เพื่อให้มีความสามารถหลายๆ ด้านตั้งแต่ยังเล็ก จะได้ใช้หรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ข้อดีของสิ่งเหล่านี้ ทำให้มนุษย์พันธุ์ใหม่กลายเป็นคนที่มีทักษะและความสามารถหลากหลายมากขึ้นในตัวเอง เป็นผู้ที่รอบรู้ เล่นได้ทุกบทในทุกสถานการณ์ รู้จักผสมผสานความรู้สาขาต่างๆ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ทั้งบุ๋นและบู๊ ให้เกิดการบูรณาการทางความคิด ทำให้เกิดการมองหลายมิติ มองเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน และตระหนักว่าการกระทำของคนคนหนึ่งในเรื่องหนึ่งๆ จะมีผลกระทบต่อคนอื่นๆ และเรื่องอื่นๆ อย่างไร แต่ถึงแม้สังคมจะบีบบังคับให้คนหนึ่งคนต้องทำอะไรได้หลายอย่าง เบ็ดเสร็จในตัวเองมากขึ้นก็ตาม คนรุ่นใหม่กลับเป็นผู้ที่นิยมการสร้างเครือข่าย ให้ความสำคัญกับ “การทำงานเป็นทีม” และพร้อมจะทุ่มเทความรู้ความสามารถที่มีเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของทีม
4. เน้น “สาระ” มากกว่า “พิธีรีตอง” ในยามที่ผู้คนให้ความสำคัญกับ “ปริญญาบัตร” มากกว่า “ความรู้” ที่ได้เพื่อนำมาพัฒนาตนเองและสังคม ในยามที่หลายคนให้น้ำหนักกับ “ใบและกระดาษห่อของขวัญ” มากกว่า “ของที่อยู่ในกล่อง” ในยามที่ผู้ใหญ่หลายท่านถกเถียงกันเรื่องที่จะให้ “ใครนั่งซ้ายนั่งขวา” แทนที่จะสนใจ “สารัตถะ” ของการประชุม ในยามที่หนุ่มสาวหลายคู่กู้หนี้ยืมสินมาจัด “พิธีงานแต่งงานใหญ่โต” หลังจบงานต้องทํางานใช้หนี้ไปอีกนาน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าชีวิตคู่จะอยู่กันราบรื่น ในยามที่คนขับรถตามท้องถนนจำใจต้องใส่หมวกกันน็อกและคาดเข็มขัดนิรภัยเพียงเพราะ “กลัวถูกตำรวจจับ” แทนที่จะคำนึงถึง “ความปลอดภัย” ของตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างที่แสดงถึง “ความฉาบฉวย” ของสังคมที่ผ่านมา แต่คนพันธุ์ใหม่จะเป็นผู้ปฏิวัติสิ่งเหล่านี้ เขาจะให้ความสำคัญกับ “แก่น” มากกว่า “กระพี้ หรือเปลือก” สนใจเนื้อหาสาระ มากกว่ารูปแบบหรือพิธีรีตอง สิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาที่บุคลิกของคนกลุ่มนี้ บุคลิกที่โดดเด่นของคนรุ่นใหม่ ภายนอกจะเป็นคนง่ายๆ ไม่ถือเนื้อถือตัว เข้ากันได้กับคนทุกระดับ แต่ภายในจะเป็นคนช่างคิด คิดลึก คิดกว้าง คิดอย่างมียุทธศาสตร์และมีเหตุมีผล และมุ่งผลสัมฤทธิ์ของเนื้องานเป็นหลัก
5. เข้าใจและรู้จักใช้เทคโนโลยี มนุษย์ในยุคดิจิตอล หรือที่เรียกว่ารุ่นเจเนอเรชั่น Y เป็นคนที่เติบโตในยุคที่มีความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เป็นยุคที่เราเห็น “e” อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ทั้ง e-Province, e-Commerce, e-Education, e-Entertainment, e-Government, e-Executive และอีกหลายๆ e คุณสมบัติสำคัญของคนรุ่นนี้ คือ จะเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลข่าวสารรอบๆ ตัว กระตือรือร้นที่จะติดตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอยู่เป็นนิจ เป็นผู้ที่หมั่นเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องเขาจะมองเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในฐานะที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการแสวงหาความรู้ และรู้จักนำมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน
6. ชีวิตมีดุลยภาพ ในยุคที่เราได้เห็น Working Women และ Working Men อยู่เต็มบ้านเต็มเมือง หลายคนทำงานไม่ลืมหูลืมตา ทุกนาทีคิดแต่เรื่องงาน เสมือนกับว่าชีวิตนี้มีแต่เรื่องงานเป็นสรณะ คนเหล่านี้มีอาการที่เรียกได้ว่า “บ้างาน” เหมือนมีแส้ไล่หวดให้ต้องทะยานไปข้างหน้าตลอดเวลา จนละเลยครอบครัวและคนรัก ขาดการดูแลเอาใจใส่ตนเอง และขาดสีสันของชีวิต สำหรับคนพันธุ์ใหม่ แม้จะทุ่มเททำงานอย่างสุดความสามารถ แต่ขณะเดียวกัน ก็จะรู้จัก “แบ่งเวลา” ให้ครอบครัว สังคม เพื่อนฝูง การพัฒนาตนเอง รวมทั้งการออกกำลังกาย ดูแลรักษาสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเองด้วย
7. แข็งแกร่ง แต่ไม่แข็งกร้าว คนพันธุ์ใหม่จะถูกสอนให้ “พึ่งตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่น” มากกว่าหวังพึ่งผู้อื่น ให้ช่วยเหลือตนเอง มีความเป็น “ผู้ให้” มากกว่า “ผู้รับ” มีคุณธรรม รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ไม่ยอมก้มหัวต่อความไม่ถูกต้อง ยึดมั่นอุดมการณ์ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม คนเหล่านี้จะเป็นผู้เปลี่ยนบรรทัดฐานและวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังรากลึกในสังคมไทย เช่น ระบบศักดินา ระบบอุปถัมภ์ ความคิดที่ว่าเป็นผู้ใหญ่หรือเป็นเจ้านายย่อมไม่ผิด ตลอดจนการทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งตามน้ำและทวนน้ำ ถึงแม้คนพันธุ์นี้จะแข็งแกร่งเพียงใด แต่พวกเขามีทักษะทางสังคมที่ดี เข้าได้กับคนทุกระดับ สุภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักให้อภัย และมีน้ำใจ พวกเขา “อ่อนโยน” แต่ไม่ “อ่อนแอ” พวกเขามักแสวงหาวิธีที่นุ่มนวล แต่สามารถไปสู่เป้าหมายเดียวกันได้
Download : นิยาม “คนพันธุ์ใหม่” NEXT GENERATION LEADERS