นางสาววราภรณ์ จันทคัต
ตำแหน่ง บรรณารักษ์
เนื้อหาโดยสรุป
การอบรมฯ ครั้งนี้เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงแรงงานในไทยภายใต้การเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC (Asean Economics Community) มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
1. ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ AEC
1.1 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแบ่งเป็นสองภาคส่วน คือ ภาคการผลิต และ ภาคการตลาด
1.2 เป้าหมายของการรวมกลุ่ม คือ สร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน และ บูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก
1.3 ผลลัพธ์ที่ได้จากการรวมกลุ่มจะต้องลดกำแพงภาษีลงได้หรือมีอำนาจต่อรองทางการค้ากับกลุ่มอื่นๆ ได้มากขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป เป็นต้น (ปัจจุบันจำนวนประชากรในอาเซียนมีมากกว่ากลุ่มยุโรป หรือ Euro Zone และเป็นกลุ่มที่สหรัฐอเมริกากับจีนต้องการเข้ามามีบทบาททางเศรษฐกิจและการเมือง) ไปจนถึงอัตราค่าจ้างแรงงานของแต่ละประเทศในอาเซียนจะต้องใกล้เคียงกัน
1.4 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในอาเซียนมีจำนวนมากเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศฝรั่งเศสเท่านั้น
1.5 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะมีผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เป็นต้นไป
2. ผลกระทบหลังการรวมกลุ่ม AEC
2.1 มีเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของชนชั้นกลางจึงส่งผลด้านกำลังซื้อสินค้าในแต่ละประเทศ
2.2 มีการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
2.3 มีการส่งเสริมการเคลื่อนย้ายนักลงทุน เจ้าของกิจการ และแรงงานฝีมือ ด้วยการออกบัตร ASEAN Business และการทำข้อตกลงวิชาชีพ MRA (Mutual Recognition Agreement)
2.4 มีการเคลื่อนย้ายกลุ่มอาชีพที่อยู่ภายใต้ MRA ทั้ง 8 อาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ช่างสำรวจ นักบัญชี และมัคคุเทศก์
3. ศักยภาพของประเทศหลักๆ ใน AEC
3.1 ประเทศอินโดนีเซีย มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน มีจำนวนประชากรมากที่สุดในอาเซียน คือ 225 ล้านคน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม จึงเป็นโอกาสในการสร้างส่วนแบ่งทางการตลาด นั่นคือ การแปรรูปอาหารฮาลาล นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะถูกใช้เป็นฐานโรงงานผลิตรถยนต์แห่งใหม่ต่อจากไทย (ค่าแรงแรงงานไทย 1 คน เท่ากับ ค่าแรงแรงงานอินโดนีเซีย 4 คน)
3.2 ประเทศสิงคโปร์ มีแรงงานที่มีทักษะสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน มีศักยภาพเป็นศูนย์กลางด้านบริการสุขภาพและที่พักผู้สูงวัย ตลอดจนมีมาตรการสินค้าที่ปลอดภาษี
3.3 ประเทศฟิลิปปินส์ มีแรงงานที่มีทักษะภาษาอังกฤษดี เป็นประเทศผู้ส่งออกแรงงานภาคบริการไปยังประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามแรงงานผู้มีทักษะสูง เช่น กลุ่มอาชีพแพทย์ มักพากันย้ายไปทำงานที่สหรัฐอเมริกาเนื่องจากให้ค่าแรงสูงกว่าในประเทศถึง 30 เท่า
3.4 ประเทศเวียดนาม แรงงานชาวเวียดนามมีค่าแรงถูกกว่าไทย 5 เท่า แต่กลับมีผลิตภาพสูงกว่าแรงงานไทยถึง 2 เท่า โดยแรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่มีคุณภาพ มีอัตราการรู้หนังสือที่สูง และเนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศจีน จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์
3.5 ประเทศไทย จำนวนผู้ใช้แรงงานเพื่อนบ้านในอาเซียนที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย มาจากประเทศเมียนมาร์มากที่สุด และกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่ผู้ใช้แรงงานทำจะเป็นงานที่อันตราย และเป็นงานที่สกปรก เช่น งานประมง ดังนั้นโอกาส คือ 1) ไทยสามารถย้ายฐานการผลิตสินค้าประมงไปยังเมียนมาร์ได้อย่างเสรี เนื่องจากค่าแรงถูกกว่าไทย และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจหลังเปิดท่าเรือน้ำลึกทวาย 2) ไทยสามารถอาศัยความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่อยู่ตรงกลางรายล้อมไปด้วยประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะต้องพยายามเป็นศูนย์กลาง (Hub) หลายๆ ด้าน นอกเหนือจากด้านการท่องเที่ยวและการบินให้ได้ อุปสรรค คือ 1) แรงงานไทยส่วนใหญ่ขาดความพร้อมด้านทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่ไม่สามารถสนทนาในระดับทั่วไปได้ดี และภาษาเพื่อนบ้านซึ่งเป็นภาษาที่สามกลับใช้สื่อสารกันเฉพาะตามแนวชายแดนระหว่างประเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามแรงงานไทยที่มีทักษะด้านภาษาอังกฤษดีอาจพากันย้ายไปทำงานในประเทศที่ให้ค่าแรงสูงกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะสมองไหล และขาดแคลนแรงงานบางอาชีพได้ 2) สำหรับงานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น เนื่องจากค่าแรงของไทยที่สูง ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงไปด้วย บริษัทรถยนต์ของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นอาจย้ายฐานการผลิตบางส่วนไปยังประเทศอื่นในอาเซียนที่มีค่าแรงต่ำกว่าแทน 3) แรงงานเพื่อนบ้านที่เข้ามาในประเทศไทยจะมีมากขึ้น ซึ่งมีทั้งที่ถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย อาจนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมมากขึ้นด้วย เช่น ชุมชนแออัด การก่ออาชญากรรม ยาเสพติด และการค้าประเวณี เป็นต้น
ประโยชน์ที่ได้รับ
ได้เรียนรู้แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของแรงงานในอาเซียน โอกาสและอุปสรรค ซึ่งทำให้ต้องตระหนักถึงการพัฒนาตนเองเพื่อรองรับประชาคมอาเซียน ผลกระทบส่วนหนึ่งคือ อาจารย์และนักศึกษาต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานและศึกษาในมหาวิทยาลัย จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาการให้บริการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น