นางสาววิริยา สมบูรณ์ผล
ตำแหน่ง บรรณารักษ์
เนื้อหาโดยสรุป
การสัมมนา เรื่อง “ดีโอไอ-ไทยแลนด์ (DOI-Thailand)” ในครั้งนี้ โดย นางสาวเพชรา สังขะวร ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศการวิจัย ได้กล่าวถึง ความเป็นมาของ DOI ในประเทศไทย ด้วยสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เป็นองค์กรหลักในการกำหนดรหัส DOI ของงานวิจัยในประเทศไทย ซึ่ง DOI (Digital Object Identifier) หรือ ตัวระบุวัตถุดิจิทัล (ดีโอไอ) หมายถึง เลขมาตรฐานสากลประจำไฟล์ดิจิทัลที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตใช้ในการระบุตัวตน หรือบ่งชี้เอกสารดิจิทัล วช. จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบการกำหนดรหัสทรัยพากรสารสนเทศดิจิทัล โดยเข้าร่วมเป็นสมาชิกแบบเต็ม (Full member) กับองค์กรรับจดทะเบียน (RA) คือ DataCite ณ ประเทศเยอรมณี ซึ่งสนับสนุนการใช้รหัส DOI กับงานวิจัยและงานวิชาการระดับอุดมศึกษา DataCite ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. สร้างการเข้าถึงข้อมูลการวิจัยได้ง่าย 2. เพิ่มการยอมรับข้อมูลงานวิจัยที่ถูกต้องตามกฎหมายมีส่วนร่วมในการบันทึกทางวิชาการ และ 3. สนับสนุนการเก็บข้อมูลเพื่อให้ผลที่จะได้รับการตรวจสอบและปรับเปลี่ยนการใช้สำหรับการศึกษาในอนาคต ซึ่งตรงกับนโยบายของ วช. ที่เน้นในด้านข้อมูลวิจัย จึงเลือกสมัครสมาชิกกับ DataCite โดยมีการดำเนินงานบริหารจัดการ DOI ดังนี้
รูปแบบมาตรฐานสากลรหัส DOI
รูปแบบมาตรฐานรหัส DOI ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
1. เลขส่วนแรก (Prefix) วช. กำหนดใช้ เลข Prefix จาก DataCite จำนวน 4 กลุ่ม ดังนี้
10.14455 หน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หน่วยงานของรัฐประเภทอื่นๆ และหน่วยงานเอกสาร
10.14456 บทความวารสาร
10.14457 สถาบันการศึกษารัฐ
10.14458 สถาบันการศึกษาเอกชน
2. เลขส่วนเติม (Suffix) วช. กำหนดใช้ กลุ่มเลข Suffix แบ่งย่อยตามประเภททรัพยากรที่ดำเนินการ 3 ประเภท ดังนี้
2.1 วิทยานิพนธ์ มีรูปแบบดังนี้
Prefix/อักษรย่อหน่วยงาน.อักษรย่อประเภททรัพยากร.ปีที่เผยแพร่.running.no
ตัวย่าง 10.14457/CU.the.2010.1
10.14457 Prefix ของหน่วยงานสถาบันการศึกษาภาครัฐ
CU. อักษรย่อของหน่วยงานสถาบันการศึกษาภาครัฐ (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
The. ย่อมาจาก thesis (วิทยานิพนธ์)
2010. ปี ค.ศ. ที่เผยแพร่ในที่นี้ คือ ปี 2010
1 ลำดับทรัพยากรสารสนเทศ ตาม running no. ในที่นี้คือ ลำดับ 1
2.2 รายงานการวิจัย มีรูปแบบดังนี้
Prefix/อักษรย่อหน่วยงาน.อักษรย่อประเภททรัพยากร.ปีที่เผยแพร่.running.no
ตัวย่าง 10.14457/PSU.res.2011.1
10.14457 Prefix ของหน่วยงานสถาบันการศึกษาภาครัฐ
PSU. อักษรย่อของหน่วยงานสถาบันการศึกษาภาครัฐ (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
res. ย่อมาจาก research (รายงานการวิจัย)
2011. ปี ค.ศ. ที่เผยแพร่ในที่นี้ คือ ปี 2011
1 ลำดับทรัพยากรสารสนเทศ ตาม running no. ในที่นี้คือ ลำดับ 1
2.3 บทความวารสาร มีรูปแบบดังนี้
Prefix/ชื่อย่อวารสาร.ปีที่เผยแพร่.running.no
ตัวย่าง 10.14456/pa.2014.11
10.14456 Prefix ของบทความวารสาร
pa. ชื่อวารสาร Thai Journal of Public Administration
2014. ปี ค.ศ. ที่เผยแพร่ในที่นี้ คือ ปี 2014
11 ลำดับ running no. ในที่นี้คือ ลำดับ 11
การบริหารจัดการระบบ NRCT’s Local Handle System
ประกอบด้วยด้วยระบบย่อยภายในต่างๆ ดังนี้
1. ระบบบริหารจัดการ DOI
ระบบบริหารจัดการ DOI ได้แก่ การสร้างรหัส DOI การปรับปรุงข้อมูล DOI การลบรายการ DOI การจัดการข้อมูล Prefix การจัดการข้อมูล Suffix การนำเข้าข้อมูลผ่านระบบ Digital Research Information Center (DRIC)
2. ระบบเชื่อมต่อ Registration Agency (Synchronization)
เพื่อส่งชุดข้อมูลเมทาดาทา หรือส่งคำสั่งปรับปรุงเมทาดาทาไปยัง Meta Store ของ DataCite ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ของแฟ้มข้อมูลรายการของรหัส DOI ตรวจสอบและดำเนินการปรับปรุงเมทาดาทาได้โดยอัตโนมัติ เมื่อพบการเปลี่ยนแปลงของข้อมูล
3. ระบบการทำสำเนาข้อมูล (Replication)
ระบบการทำสำเนาข้อมูล (Replication) ได้แก่ การจัดการข้อมูลเครื่องแม่ข่ายสำรอง (Mirror Site) การทำสำเนาข้อมูล (Replicate) ฐานข้อมูลการทำสำเนาข้อมูล (Replicate) เอกสารดิจิทัล การเชื่อมโยงกับระบบเชื่อมต่อข้อมูล Registration Agency ระบบการตรวจสอบสถานะเครื่องแม่ข่าย (Site Monitoring)
4. ระบบการเผยแพร่ภายนอก (Public)
ระบบการเผยแพร่ภายนอก (Public)ได้แก่ การค้นหารายการข้อมูลจากรหัส DOI ข้อมูลเมทาดาทา การอ้างถึงโดยสามารถแสดงผลในรูปแบบ Open URL, BibText, RDF XML, RIS สถิติและรายงาน
5. การดูแลเครื่องแม่ข่ายสำรอง (Mirror Site)
การดูแลเครื่องแม่ข่ายสำรอง (Mirror Site) ได้แก่ เครื่องแม่ข่ายสำรองที่ 1 (Mirror Site 1) มีการจัดทำสำเนาข้อมูลที่เครื่องแม่ข่ายสำรองในประเทศไทย เครื่องแม่ข่ายสำรองที่ 2 (Mirror Site 2) มีการจัดทำสำเนาข้อมูลที่เครื่องแม่ข่ายสำรองที่ต่างประเทศ
การขอรับบริการรหัส DOI
การขอรับบริการรหัส DOI จาก วช. ซึ่งสามารถขอรับได้ 3 วิธี ดังนี้
1. การขอรับบริการผ่านระบบ DRIC
โดยผู้ขอรับบริการรหัส DOI จัดส่งเอกสารดิจิทัล ได้แก่ รายงานการวิจัยและวิทยานิพนธ์ ให้ศูนย์ข้อมูลการวิจัยดิจิทับ (DRIC) ซึ่งเอกสารที่จัดส่งจะถูกนำไปตรวจสอบความซ้ำซ้อนกับระบบ DRIC จากเว็บไซต์ http://www.dric.nrct.go.th เหมาะสำหรับหน่วยงานหรือบุคคลทั่วไปที่อยากเผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะแต่ไม่มีคลังข้อมูลในการจัดเก็บ สามารถนำผลงานมาเผยแพร่ผ่านฐานข้อมูล DRIC กับทาง วช. ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
2. การขอรับบริการผ่านเว็บไซต์โดยใช้ Excel File
การขอรับบริการผ่านเว็บไซต์โดยใช้ Excel File เหมาะสำหรับการขอรับรหัส DOI คราวละหลายรายการ โดยผู้ขอรับบริการรหัส DOI จะต้องสมัครสมาชิกผ่านทางเว็บไซต์ http://doi.nrct.go.th/doidc ผลงานเหล่านั้นต้องผ่านการเผยแพร่ออนไลน์แล้วและมี URL ของผลงานแต่ละชื่อเรื่องด้วย
3. การขอรับบริการผ่านเว็บไซต์โดยใช้ Web Form
ผู้ขอรับบริการจะต้องกรอกข้อมูลผ่าน Web Form เพื่อขอรับรหัส DOI ที่ละรายการ โดยจะต้องสมัครสมาชิกผ่านเว็บเว็บไซต์ http://doi.nrct.go.th/doidc พร้อมด้วยกรอบรายการเมทาดาทา การนำเข้าข้อมูล และ Upload ไฟล์ข้อมูลเข้าระบบ เช่นเดียวกับการขอรับบริการผ่านเว็บไซต์โดยใช้ Excel File
ประโยชน์ที่ได้รับ
ได้ทราบถึงแนวทางการพัฒนาระบบในการกำหนดรหัสทรัยพากรสารสนเทศดิจิทัล ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อนำมาสนับสนุนการใช้รหัส DOI กับงานวิจัยและงานวิชาการในระดับอุดมศึกษา