นางสาววราภรณ์ จันทคัต
ตำแหน่ง บรรณารักษ์
Workshop on UniNet Network and Computer Application : 32nd WUNCA
เนื้อหาโดยสรุป
การสัมมนาครั้งนี้เป็นการสัมมนาเชิงปฏิบัติการประจำปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินกิจกรรมบนเครือข่ายสารสนเทศเพื่อพัฒนาการศึกษา (UniNet) เพื่อศึกษาวิจัยและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศบนเครือข่ายฯ ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบเครือข่ายระหว่างกลุ่มสมาชิก
ช่วงแรกของงานมีการกล่าวถึง
ซึ่งรายละเอียดเนื้อหาการสัมมนาสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
1. เครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่รองรับ IPv6
การประกาศมอบรางวัล (IPv6 Ready Award 2016) ให้กับสถาบันการศึกษาทั้งหมด 26 สถาบัน ที่มีความพร้อมในการให้บริการเครือข่ายอินเทอร์เน็ตพื้นฐานที่รองรับ IPv6 ครบทั้ง 3 ระบบ ได้แก่ ระบบ DNS ระบบ Mail และระบบ Web โดยแบ่งประเภทของรางวัลเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) IPv6 Ready Pioneer Award จำนวน 5 สถาบัน 2) IPv6 Ready Rookie Award จำนวน 10 สถาบัน และ 3) IPv6 Ready Award จำนวน 26 สถาบัน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวัดประกอบการพิจารณารางวัล คือhttp://ngi-monitor.uni.net.th/ และระยะเวลาการตรวจวัดระหว่างวันที่ 1 – 24 ธันวาคม 2558 (โดยต้องแสดงผลเป็นแถบสีเขียวหรือผ่านเกณฑ์ 80% ทั้ง 3 ระบบ)
2. ความท้าทายจากเทคโนโลยีที่มีผลต่อห้องสมุดสมัยใหม่กับการจัดการชิ้นส่วนดิจิทัล วิทยากร คือ
รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาและผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ประเด็นสำคัญที่วิทยากรกล่าวถึงคือ ความจำเป็นที่ห้องสมุดต้องใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เนื่องจาก
2.1 ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของผู้คนในปัจจุบันผูกติดกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์กบนสมาร์ทโฟน และการค้นหาข้อมูลต่างๆ ผ่านเสิร์ชเอ็นอิ้นบนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ดังนี้
จะเห็นได้ว่า ข้อมูลต่างๆ ยิ่งถูกสร้าง จัดเก็บและค้นคืนผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็วเพียงใด ข้อมูลยิ่งถูกผลิตและกระจายได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น อาจเรียกได้ว่า เรากำลังอยู่ในยุคดิจิทัล ซึ่งองค์กรต่างๆ จะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร และวิถีชีวิตการทำงานเพื่อความอยู่รอดท่ามกลางสภาวะการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่รุนแรงในโลกการค้าเสรีในปัจจุบัน
2.2 การเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลนั้นต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีพื้นฐานต่อไปนี้ ได้แก่ IoT, Cloud และ Big Data
2.2.1 IoT (Internet of Things) หรือ Machine for generating data หมายถึง เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการบูรณาการระหว่างข้อมูลและบริการเข้ากับเครือข่าย (M2M Communication to transmit information)
2.2.2 Clod หรือ Cloud Computing เพื่อใช้ในการประมวลและแสดงผลข้อมูล ซึ่งพัฒนาต่อจากแนวคิด Virtualization และ Web Services โดยผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงเทคนิคสำหรับการใช้งาน
2.2.3 Big Data : Big Analytics ซึ่ง Analytic คือ ระบบที่มีความสามารถในการคัดกรองข้อมูลที่ต้องการใช้งานจริง 20% จากจำนวนข้อมูลที่มีอยู่มากมายทั้งหมด ซึ่งระบบนี้มีความสำคัญต่อองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่จำเป็นต้องใช้ข้อมูลจำนวนมากในการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการ
2.3 บทบาทของนักสารสนเทศในยุคดิจิทัล จำเป็นต้องปรับไปตามสภาพการเรียนรู้ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป นักสารสนเทศจะต้องมีความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (DMS : Digital Management System) ช่วยในการจัดการและจัดเก็บเอกสาร เพื่อให้บริการเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะการบริการสำหรับนักวิชาการในการทำวิจัยซึ่งควรได้ข้อมูลจากเอกสารต้นฉบับ (Primary Sources) ซึ่งเอกสารต้นฉบับเหล่านี้ควรได้รับการจัดการ จัดเก็บ และค้นคืนที่สะดวก รวดเร็ว มีลักษณะเป็น Digital Archives นอกจากนี้ เทคโนโลยียังก่อให้เกิดงานห้องสมุดรูปแบบใหม่ที่นักสารสนเทศควรดำเนินการอีกด้วยเช่น งานจัดการรูปภาพ คลิป เอกสารสิ่งพิมพ์ ข้อมูลและข่าวสาร เสียง ซอฟต์แวร์ และทรัพยากรการศึกษาต่างๆ เป็นต้น
2.4 ทรัพยากรดิจิทัลแบบเปิดภายใต้สังคมแบบเปิด หรือ Open Education Resource (OER) ซึ่งจะอยู่บนอินเทอร์เน็ต มีผู้สร้าง และทรัพยากรสามารถแบ่งปันกันใช้โดยการเข้าถึงแบบออนไลน์ โดยลิขสิทธิ์จะเป็นแบบ CC (Creative Common) ข้อมูลจะถูกจัดเก็บด้วยโปรแกรม DSpace รวมไปถึงรหัสประจำตัวเอกสารดิจิทัล DOI (Digital Object Identifier) ซึ่งมีคุณสมบัติสำคัญคือ เลข DOI จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดอายุ ถึงแม้ว่าข้อมูล Metadata ของเอกสาร (เช่น URL, เจ้าของ, ฯลฯ) จะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม และสำหรับทรัพยากรทางการศึกษาแบบเปิดเพื่อให้ครู อาจารย์ นักเรียน และนักศึกษาสามารถนำมาใช้ในการเรียน การสอน และการวิจัยได้นั้นจะมาจากการเข้าถึงแบบเปิดที่เรียกว่า MOOC (Massive Open Online Course)
3. Digital Service, Digital Office : everyone can create it. วิทยากร คือ รองศาสตราจารย์ ดร.รัตติมา จีนาพงษา ผู้อำนวยการสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร
ประเด็นสำคัญที่วิทยากรกล่าวถึงคือ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงของห้องสมุด
3.1 บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ระดับโลกหลายแห่งต่างล้มละลายและถูกควบกิจการ เนื่องจากไม่สามารถปรับตัว สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ทัน (ทั้งในด้านสินค้าและบริการ)
3.2 ห้องสมุดจะมีการปรับตัวอย่างไร ซึ่งวิทยากรได้มีการยกกรณีศึกษา สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร มาอธิบายว่ามีการปรับตัวทั้งในด้าน Digital Service และ Digital Office เช่น
3.2.1 Digital Service ทางสำนักหอสมุดฯ มีการปรับปรุงเว็บไซต์ให้ผู้ใช้งานสามารถมองเห็นช่องทางการสืบค้นได้โดยง่าย มีบริการยืมและจัดส่งหนังสือระหว่างคณะ มีบริการสืบค้นวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องสำหรับทำวิจัย มีบริการ NU Int. Publication ที่ถูกพัฒนาเพื่อใช้ทดแทนฐานข้อมูล Scopus เป็นต้น
3.2.2 Digital Office มีระบบจัดการรายการหนังสือที่หาบนชั้นไม่พบ มีระบบประชาสัมพันธ์ด้วยโปรแกรม Xibo (Open Source Digital Signage) มีระบบแจ้งแก้ไขตัวเล่มหนังสือโดยระบบจะจัดเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ เป็นสถิติจำนวนครั้ง (เช่น การให้เลขหมู่ผิด หรือสันหนังสือไม่ชัดเจน) มีระบบ SAR Online และมีระบบฐานข้อมูลครุภัณฑ์โดยใช้ Barcode Reader ช่วยในการเดินสำรวจ
4. IOT@Library วิทยากร คือ คุณจีระพล คุ่มเคี่ยม จากสำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
วิทยากรได้นำเสนอระบบอัตโนมัติที่ได้มีการพัฒนาและติดตั้งเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการต่างๆ ภายในสำนักหอสมุดกลางฯ โดยนำแนวคิดเรื่อง IoT (Internet of Things) มาประยุกต์ใช้
4.1 การควบคุมการเข้า – ออกห้องสมุด เพื่อตรวจสอบผู้ใช้บริการก่อนเข้า หากมีสถานะค้างค่าปรับหรือค้างส่งหนังสือ จะแจ้งให้ผู้ใช้ติดต่อเจ้าหน้าที่ก่อน และระบบจะควบคุมกล้องวงจรปิดให้ถ่ายภาพทุกคนที่จะเข้าใช้งานห้องสมุดด้วยการตรวจวิเคราะห์ใบหน้า
4.2 เสียงตามสาย เพื่อเตือนผู้ใช้บริการก่อนห้องสมุดจะปิดทำการ และเพื่อเป็นเสียงเตือนให้กับผู้ใช้ที่ส่งเสียงดังในแต่ละชั้น
4.3 เซ็นเซอร์ระบบปรับอากาศและแสงสว่าง เพื่อควบคุมการปิด – เปิดระบบปรับอากาศและแสงสว่างตามบริเวณที่มีผู้ใช้งานจริง
5. มาตรฐานการจัดทำและบริหารจัดการวิทยานิพนธ์ เพื่อพัฒนาคลังความรู้สถาบันอุดมศึกษา
วิทยากร คือ รองศาสตราจารย์ ดร.อมร เพชรสม รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วิทยากรได้นำเสนอกรณีศึกษาระบบ CU e-Thesis ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการดำเนินการเกี่ยวกับตัวเล่มวิทยานิพนธ์เพื่อจบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาตั้งแต่
ระบบ CU e-Thesis จะบังคับให้อ้างอิงรายการบรรณานุกรมผ่านโปรแกรม EndNote ซึ่งจะทำให้ยอดการใช้โปรแกรมนี้และยอดการจัดอบรมมีสูงขึ้นมาก
6. อักขราวิสุทธิ์ วิทยากร คือ คุณไพโรจน์ ลีลาภัทรกิจ จากบริษัทอินสไปก้า จำกัด
วิทยากรได้นำเสนอกรณีศึกษาโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ เพื่อป้องกันการลักลอกวรรณกรรมทางวิชาการ เนื่องจากพบว่า ปัจจุบันการทำวิทยานิพนธ์ในระดับบัณฑิตศึกษา การทำผลงานทางวิชาการเพื่อขอปรับตำแหน่งมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ลอกเลียน และอ้างอิงผลงานผู้อื่นอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งโปรแกรมที่นิยมใช้งานในประเทศไทย เช่น Turnitin เป็นโปรแกรมของต่างประเทศและมีราคาค่อนข้างสูง แต่สำหรับโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณการพัฒนาโดยบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สามารถตรวจสอบข้อความภาษาไทยได้เป็นอย่างดี และนิสิตสามารถเขียนวิทยานิพนธ์ผ่าน Microsoft Word ที่ติดตั้ง Add-in พิเศษ และบังคับว่านิสิตทุกคนต้องใช้โปรแกรมนี้เพื่อสำเร็จการศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ทำ MOU เพื่อใช้โปรแกรมนี้ถึง 52 สถาบัน ซึ่งความสามารถของโปรแกรมสามารถตรวจวิทยานิพนธ์ จำนวน 500 หน้า ได้ใน 3 นาที แต่หากมีการเพิ่มจำนวนเครื่องแม่ข่าย (Server) การตรวจวิทยานิพนธ์ จำนวน 500 หน้า จะทำได้ภายใน 1 นาทีเท่านั้น
7. Big Data Analytics for Digital Librarian on iThesis วิทยากร คือ คุณธีระยุทธ โกสินทร์ ตัวแทนทีมพัฒนาระบบไอทีสิส
ประเด็นสำคัญที่วิทยากรกล่าวถึงคือ
7.1 บทบาทหน้าที่ของบรรณารักษ์ดิจิทัล ในต่างประเทศบรรณารักษ์ดิจิทัล (Digital Librarian) มีลักษณะใกล้เคียงกับ Metadata Technologies Librarian, Digital Scholarship Librarian และ Electronic Resource Librarian ซึ่งเป็นบรรณารักษ์ที่เน้นงานไปทางด้านไอที
บรรณารักษ์ดิจิทัลจะต้องมีความสามารถในการใช้เครื่องมือจัดการความรู้และงานวิจัย และติดตามความรู้ด้านไอทีใหม่ๆ เพื่อประยุกต์ใช้กับงานบริการ
7.2 แนะนำระบบไอทีสิส (iThesis) ซึ่งเป็นการบูรณาการโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์เข้ากับคลังวิทยานิพนธ์ไทยของ สกอ.
7.2.1 ระบบนี้สามารถทำงานบนโปรแกรมประมวลผลคำ (Microsoft Word) ที่ติดตั้ง Add-In for Graduated Student
7.2.2 หลักการทำงานเริ่มจากการตรวจสอบและแก้ไขวิทยานิพนธ์ของนิสิตผ่านอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ นำเข้าผลงานเข้าสู่โปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ ผ่านการตรวจสอบและอนุมัติโดยบัณฑิตวิทยาลัย และเข้าสู่คลังวิทยานิพนธ์ไทย (TDC)
7.2.3 การสืบค้นบนไอทีสิส สามารถกรองผลการสืบค้นตามกลุ่มสาขาวิชาได้อย่างหลากหลาย และแสดงคำค้น (Key Words) ที่ใช้มากที่สุดในกลุ่มสาขาวิชานั้นๆ ตลอดจนสามารถสืบค้นได้จากรายชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาและนิสิตที่อยู่ภายใต้การดูแลวิทยานิพนธ์ในลักษณะที่เป็น Layer Teaching หรือ Genealogy Project Graph
8. Library Transformation วิทยากร คือ รองศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต ทิพากร
ประเด็นสำคัญที่วิทยากรกล่าวถึงคือ การเปลี่ยนโฉมห้องสมุดจะต้องทำอย่างไร
8.1 ศตวรรษที่ 21 เป็นศตวรรษแห่งการเรียนรู้ ห้องสมุดต้องเป็นองค์กรที่เต็มไปด้วยผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะและทัศนคติที่สอดคล้องกับสังคมแห่งการเรียนรู้ เช่น การคิดเชิงสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การพัฒนาต่อยอด การคิดอย่างเป็นระบบ ภาวะความเป็นผู้นำ การมีทักษะทางสังคมที่ดี และการมีความรู้และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
สำหรับอาชีพบรรณารักษ์ เมื่อเปรียบเทียบกับนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) แล้วจะพบความคล้ายคลึงกันอยู่บ้าง แต่บรรณารักษ์จะเน้นหนักไปทาง Soft Skills มากกว่า
8.2 ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาจะช่วยให้นักศึกษามี Learning Outcome ได้อย่างไร มิได้ขึ้นอยู่กับจำนวนหนังสือในห้องสมุดตามหลักสูตรเท่านั้น แต่ห้องสมุดจะต้องมีบทบาทด้านการสอนการรู้สารสนเทศ (Information Literacy) ไปจนถึงการนำเสนอความรู้ในรูปแบบที่หลากหลาย นอกเหนือไปจากการสอนการสืบค้นผ่าน WebOPAC เพียงอย่างเดียว ซึ่งในอนาคตจะต้องเตรียมตัวรับมือกับ web 3.0 (Semantic Search) และ web 4.0 (Intelligence Personal Agents) อีกด้วย
9. การพัฒนาแผนที่ไดนามิคสำหรับการนำทางในห้องสมุดบน WALAI AutoLib Web OPAC ทีมวิทยากร คือ หน่วยวิจัยนวัตกรรมด้านสารสนเทศ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำเสนอแอพพลิเคชั่นแผนที่นำทาง ที่ถูกพัฒนาขึ้นและใช้ชื่อว่า Opac Library Street View มีลักษณะดังนี้
9.1 เป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถดาวน์โหลดได้จากทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android สามารถใช้งานได้ 30 วัน
9.2 เป็น New Dynamic Map หรือแผนที่แสดงตำแหน่งของตัวเล่มหนังสือที่ต้องการค้นหาในห้องสมุดผ่าน Mobile Devices ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับ Google Street view
9.3 แผนผังห้องสมุดและชั้นวางหนังสืออยู่ในรูปแบบ 3 มิติ
9.4 เมื่อสืบค้นหนังสือที่ต้องการจะแจ้งว่าให้ไปที่หมวดหมู่อะไร และไปอาคาร/สาขาห้องสมุดใด ชั้นใด
10. ALIST Changes to Web – based ทีมวิทยากร คือ ทีมงานผู้พัฒนาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอกรณีศึกษาระบบห้องสมุดอัตโนมัติเพื่อสถาบันอุดมศึกษาไทย ALIST ดังนี้
10.1 ระบบ ALIST เป็น Web-based Application ทำงานในลักษณะที่เป็นแพล็ตฟอร์ม/ทำงานผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้ทันทีโดยไม่ต้องทำการติดตั้ง และมีค่าใช้จ่ายน้อย
10.2 การใช้งานง่าย และสามารถใช้ได้กับทุกอุปกรณ์ (Devices)
10.3 โมดูลสำหรับงานต่างๆ ค่อนข้างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นงานจัดหา งานลงรายการ งานสิ่งพิมพ์ต่อเนื่อง งานบริการยืม-คืน งานสืบค้น งานสถิติ และงานผู้ดูแลระบบ
ประโยชน์ที่ได้รับ
ได้ทราบทฤษฎี แนวคิด และการพัฒนาการบริการห้องสมุดของสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย ตลอดจนแนวโน้มการบริการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ พฤติกรรมสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้บริการทั้งคณาจารย์และนิสิต ตลอดจนปัญหาที่เกิดขึ้นตั้งแต่งานเทคนิคไปจนถึงงานบริการในรูปแบบต่างๆ เพื่อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา และยกระดับคุณภาพของห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้นต่อไป