นางสาววรรณ์วิสาข์ โพธ์มณี
ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษา
Lifelong Learning Space for Thailand Digital Economy
เนื้อหาโดยสรุป
การเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน (Massive Open Online Course)
MOOC มาจากคำว่า Massive Open Online Course (การเรียนการสอนออนไลน์ระบบเปิดสำหรับมหาชน) คือ การเรียนการสอนผ่านออนไลน์ในระบบการศึกษาแบบเปิด และสามารถรับได้โดยไม่มีข้อจำกัดทั้งในด้านอายุ พื้นฐานความรู้ และจำนวนผู้เข้าศึกษา โดยมีเทคโนโลยีเป็นสภาพแวดล้อมในการจัดการเรียนการสอนเป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มีการวัดและประเมินผล สามารถนำไปใช้ทั้งในรูปแบบการเรียนการสอนตามอัธยาศัย การเรียนทั้งนอกระบบและในระบบ รวมทั้งเป็นการเสริมหรือเติมเต็มการเรียนการสอนในชั้นเรียน
โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อ ขยายโอกาสทางการศึกษา มีต้นทุนต่ำทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีรูปแบบที่ยืดหยุ่น สามารถสร้างแหล่งการเรียนรู้ที่ตอบสนองความต้องดารความรู้เฉพาะเรื่อง
มีประโยชน์ คือ หากมีระบบหรือช่องทางในการเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ สามารถเรียน พัฒนาทักษะ เพิ่มโอกาสการเรียนรู้และการทำงาน และทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ลิขสิทธิ์ที่เป็นธรรม และครีเอทีฟคอมมอนส์
ลิขสิทธิ์ ในกฎหมายไม่ได้ให้ความหมายไว้ บอกเพียงว่าสิ่งใดมีลิขสิทธิ์
ประเภทของงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ งานวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี วิทยาศาสตร์ หรือศิลปะ
องค์ประกอบของงานมีลิขสิทธิ์ ต้องเป็นการแสดงออกซึ่งความคิด เป็นการสร้างสรรค์ด้วนตนเอง เป็นงานชนิดที่กฎหมายรับรอง เป็นงานที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฏีทางวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ลิขสิทธิ์คุ้มครองการแสดงออกของความคิด
งานที่ได้รับความคุ้มครอง จะต้องเป็นงานในประเภทที่กฎหมายกำหนด งานต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการได้รับลิขสิทธิ์ และต้องเป็นงานที่ยังอยู่ในอายุคุ้มครอง
ผลงานที่ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ ได้แก่
1. ข่าวประจำวัน
2. รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
3. ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
4. คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของราชการ
5. คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่างๆ ตามข้อ 1 –4 ซึ่งกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น
เจ้าของลิขสิทธิ์ คือ ผู้สร้างสรรค์ และผู้รับโอนลิขสิทธิ์
การสร้างสรรค์งานในฐานะลูกจ้าง ถ้าไม่ได้ทำหนังสือตกลงเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์เป็นของลูกจ้าง นายจ้างมีสิทธิเผยแพร่ได้ตามวัตถุประสงค์ดารจ้างแรงงาน
การสร้างสรรค์งานในฐานะผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ตกลงเป็นอย่างอื่น
กรณีการดัดแปลงงาน ต้องเป็นการดัดแปลงโดยได้รับอนุญาต ผู้ดัดแปลงมีลิขสิทธิ์แต่ต้องไม่กระทบสิทธิของเจ้าของเดิม
กรณีรวบรวมงานที่มีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น ผู้รวบรวมมีลิขสิทธิ์ แต่ต้องไม่กระทบสิทธิของเจ้าของงานที่นำมารวบรวม
การใช้ที่เป็นธรรม (FAIR USE) ในกฎหมายไทย
ข้อยกเว้นอื่น: การอ้างอิง
การกล่าว คัด ลอก เลียน หรือ อ้างอิงงานบางตอนตามสมควรจากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้ปฏิบัติตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง (มาตรา 33)
ประโยชน์ที่ได้รับ
สามารถนำความรู้ที่ได้จากการสัมมนามาปรับปรุงและประยุกต์ใช้ในการทำงาน เพื่อให้การสร้างสรรค์งานเป็นไปอย่างถูกต้อง และไม่เกิดความเสี่ยงในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญา เข้าใจถึงวิธีการได้มาซึ่งทรัพยากรอย่างถูกต้อง และการอ้างอิงอย่างถูกวิธีเพื่อไม่ได้เกิดการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่น และการรู้จักปกป้องสิทธิ์ของตนเอง
ปัญหาอุปสรรค / ข้อเสนอแนะ –