เรื่อง ก้าวทันกระแสโลก
วันพฤหัสบดีที่ 30 เมษายน 2552 (เวลา 09.00 – 12.00 น.)
สถานที่ ห้องมินิเธียเตอร์ชั้น 1 อาคารวิทยบริการ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ
จำนวนผู้เข้ารับการอบรม 124 คน
สรุปเนื้อหาการบรรยาย
ก้าวทันกระแสโลก เกี่ยวกับสถานการณ์สังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทย สถานการณ์เศรษฐกิจ การเมืองโลกที่สำคัญ วิกฤตการณ์ต่างๆ และผลกระทบต่อประเทศไทย แนวโน้มในโนอนาคตต การเตรียมพร้อมขององค์กรธุรกิจเพื่อรับมือ
ในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2551 มีข่าวใหญ่เกี่ยวกับปัญหาเรื่องเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียรวมไปถึงส่วนอื่นๆ ของโลก ยังไม่หายตระหนกจากผลกระทบของ “วิกฤตเอเชีย” (Asian Crisis) หรือ “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งออกฤทธิ์อย่างรุนแรงเมื่อเดือน กรกฎาคม ค.ศ. 1997 (พ.ศ. 2540)
วิกฤตการณ์ครั้งล่าสุดนี้เกิดขึ้นเป็นระยะๆ จากจุดเริ่มต้นที่สหรัฐอเมริกา (จึงถูกขนานนามว่า “วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์”) เมื่อรุนแรงถึงระดับหนึ่ง เป็นเหตุให้สถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งที่ตั้งอยู่บน (หรือใกล้เคียง) ถนนสายการเงินของสหรัฐอเมริกา คือ “ถนนวอลล์” (Wall Street) บนเกาะแมนฮัตตัน ในกรุงนิวยอร์ค ต้องตกอยู่ในสภาพขาดทุนย่อยยับเนื่องจากมีหนี้สินก้อนมหึมา และหรือหุ้นตกแบบดิ่งสุด
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้ส่งผลร้ายแรงกว่าที่ควร เพราะเป็นปัญหาที่เกิดจาก “อุตสาหกรรมการเงิน” (Financial Industry) ในยุคปัจจุบันซึ่งมีลักษณะเกี่ยวโยง ผูกพัน ทับซ้อนกันอย่างแนบแน่นระหว่างสถาบันการเงินพันธุ์เดียวกัน หรือต่างพันธุ์กัน มากมายหลายสถาบัน ซึ่งมีขอบเขตการปฏิบัติการกว้างขวางทั่วโลกจนเป็นเหตุและผลของการพังทลายหรือขาดทุนของสถาบันเหล่านั้นในลักษณะ “พ่วงกัน” และ “ดึงกัน” ให้ล้มครืนไปพร้อม ๆ กัน โดยที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดยากที่จะปกป้องตนเอง หรือกู้ตนเองให้ลอยพ้นเหนือปัญหาและประสบความปลอดภัยได้แต่เพียงลำพัง
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นในโลกยุค “โลกาภิวัตน์” ซึ่งไม่มีปรากฏการณ์ใดที่เกิดขึ้นในสถาบันใด ภายในเส้นเขตแดนภายใต้อำนาจอธิปไตยของรัฐใด จะสามารถปลอดพ้นจากการเกี่ยวกระทบระหว่างกัน เพราะสภาวะ “โลกาภิวัตน์” ด้วยความเกื้อหนุนอันวิเศษสุดของเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้ทำลายทำนบของการแบ่งกั้นประเทศหนึ่งออกจากอีกประเทศหนึ่งไปโดยสิ้นเชิง
ดังนั้น หากจะเปรียบว่าวิกฤตการณ์ทางการเงินครั้งล่าสุดมีความรุนแรงขนาดเทียบเท่า “สึนามิ” ก็คงจะไม่ผิด ซ้ำยังจะให้ภาพที่เข้าใจได้ง่าย คือวิกฤตครั้งนี้จะถาโถมทำลายทุกสถาบันการเงินในทุกประเทศที่มีกิจกรรมโยงใยอยู่ภายในเครือข่ายเดียวกันให้พังพินาศไปพร้อม ๆ กันในลักษณะ “ไพ่ต่อแต้ม” (domino)
ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ชวนให้นักวิชาการและผู้สังเกตการณ์กิจการต่างประเทศระลึกไปถึง “สภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่” (The Great Depression) อันรุนแรงมากซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1928 – 1929 และ ค.ศ. 1997 ….และครั้งล่าสุดขณะนี้ในปี ค.ศ. 2009 มีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไรบ้าง
ผลที่ได้รับ