รศ.ดร.อรุณี อินทรไพโรจน์
นายพงศ์พิชญ์ ต่วนภูษา
ผศ.รพีพัฒน ภาสบุตร
การพัฒนาห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์ในปัจจุบันมีลักษณะที่แตกต่างจากเดิมเนื่องจากสถาบันการศึกษาส่วนใหญ่ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือตั้งแต่การจัดเก็บ การค้นคืน การเผยแพร่ไปยังผู้ใช้ รวมทั้งการเพิ่มบริการต่างๆ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลของการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้โดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเวลา และสถานที่ รวมทั้งความรู้เป็นสินค้าที่สามารถบริโภคได้โดยไม่หมดไปทำให้สถาบันอุดมศึกษาต่างตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อพัฒนา แบ่งปัน และใช้ทรัพยากรในลักษณะที่แต่ละสถาบันต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit)
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 โดยการจัดกลุ่มวิทยาเขตภายใต้สังกัดของสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลเดิมเพื่อให้มีความคล่องตัวด้านการบริหารจัดการและเพิ่มศักยภาพการจัดการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีพัฒนามาจากการเป็นศูนย์กลางสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลทำให้ในระยะแรกมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น การมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่เฉพาะ การมีประสบการณ์ในกิจกรรมสำคัญ การเป็นศูนย์ประสานงานในภารกิจของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลที่เหลือสามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความเป็นอิสระแต่มีความร่วมมือเป็นเครือข่ายเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในภาพรวม การร่วมมือในระยะแรกของกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจะเป็นความร่วมมือในภาระกิจที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น งานรับพระราชทานปริญญา งานกีฬา โดยผ่านมติจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคล
กรอบแนวคิดในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านห้องสมุดและทรัพยากรการเรียนรู้
เครือข่ายความร่วมมือของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลต่อมาได้ขยายไปยังหน่วยงานในระดับปฏิบัติการ เพื่อสร้างกิจกรรมที่เป็นรูปธรรม กิจกรรมหลักในส่วนของการพัฒนาทรัพยากรสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรสารนิเทศ การพัฒนาสื่อทางไกลให้กับมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม การร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (Thailand Cyber University) หรือ TCU ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อจัดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์
อย่างไรก็ตามการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของห้องสมุดยังไม่มีความชัดเจนมากนัก เนื่องจากมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้ดำเนินการพัฒนาที่มุ่งเน้นเฉพาะในส่วนที่เป็นความสำคัญและการแก้ไขปัญหา เฉพาะหน้า แต่เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3 ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ผู้บริหารสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศได้เริ่มกลับมาร่วมกันสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อให้การพัฒนาในภาพรวมมีความสอดคล้องและเป็นรูปธรรมมากขึ้น กรอบแนวคิดในการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตั้งแต่ ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน 2551 สามารถสรุปการดำเนินการเป็นสามระยะ
ระยะที่ 1: การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ห้องสมุดสมัยใหม่
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่งได้รับงบยุทธศาสตร์สำหรับการพัฒนาห้องสมุดสมัยใหม่ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550-2552 งบประมาณที่ได้รับจะแตกต่างกันขึ้นอยู่กับการจัดอันดับความสำคัญของการพัฒนาห้องสมุดเปรียบเทียบกับการพัฒนาในด้านอื่น เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้รับงบประมาณใน 2 ปีแรก จำนวน 15.8 ล้านบาท ขณะที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพไม่มีงบประมาณเพราะเน้นการการพัฒนายุทธศาสตร์สิ่งทอ งบยุทธศาสตร์ห้องสมุดที่ได้รับจะถูกนำไปจัดซื้อครุภัณฑ์ และอบรมบุคลากรเพื่อปรับเปลี่ยนห้องสมุดในรูปแบบดั้งเดิมให้เป็นห้องสมุดที่เอื้อต่อการเรียนรู้
งบยุทธศาสตร์ที่ได้รับเพิ่มขึ้นจากงบปกติช่วยให้มหาวิทยาลัยปรับปรุงสภาพแวดล้อมของห้องสมุดและงานบริการได้ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้ปรับปรุงห้องสมุดในรูปแบบเดิมที่เน้นการให้บริการเฉพาะหนังสือ สิ่งพิมพ์ เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่ครบวงจร สามารถให้บริการแบบผสมผสานที่ใช้ ICT เป็นเครื่องมือ ได้แก่ การพัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยให้ทันสมัยตามมาตรฐานสากล จัดหาทรัพยากรสารนิเทศในรูปแบบที่หลากหลาย จัดระบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันทั้งภายในและภายนอกห้องสมุดรวมทั้งแหล่งเรียนรู้จากทั่วโลก ปรับปรุงพื้นที่และอาคารให้ทันสมัยโดยเฉพาะส่วนให้บริการ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถทางวิชาชีพและก้าวทันเทคโนโลยี
นอกเหนือจากการให้บริการห้องสมุด มหาวิทยาลัยได้ให้ความสำคัญต่อการเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้ดังนั้นจึงมีการรวมงานบริการต่างๆ เพื่อให้เกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์ เช่น
เมื่อการปรับปรุงห้องสมุดเชิงกายภาพได้ดำเนินการในระดับหนึ่งแล้ว มหาวิทยาลัยจึงได้เริ่มขยายบริการเป็นห้องสมุดสำหรับชุมชน (Community Library) เพื่อส่งเสริมการรักการอ่านและการค้นคว้าของประชาชน รวมทั้งขยายโครงการภายใต้แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต (Learning without Boundary) โดยการปรับปรุงสวน พื้นที่ว่างเปล่า การพัฒนา IT Park ให้มีทัศนียภาพสวยงามเหมาะแก่การเรียนรู้นอกอาคาร รวมทั้งการเชื่อมโยงห้องสมุดทุกคณะของมหาวิทยาลัย
ระยะที่ 2: การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยราชมงคล
หลังจากการพัฒนาห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลแต่ละแห่งแล้วเสร็จเป็นที่น่าพอใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่งได้เริ่มจัดประชุมพื่อสร้างความร่วมมือ แบ่งปันทรัพยากร และเพิ่มศักยภาพการดำเนินงาน กิจกรรมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่อยู่ระหว่างการดำเนินการนอกเหนือจากการยืมคืนระหว่างมหาวิทยาลัยได้แก่
ระยะที่ 3: การแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้ให้กับชุมชนและสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลไม่เพียงแต่คำนึงถึงความร่วมมือในระหว่างกลุ่มและมหาวิทยาลัยในกลุ่มอุดมศึกษา แต่ต้องการขยายความร่วมมือกับทุกสถาบันเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และสภาพแวดล้อมของสังคมแห่งการเรียนรู้ที่ไร้พรมแดน
การเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจที่ไร้พรมแดนจากการขับเคลื่อนของระบบอินเทอร์เน็ต เครือข่ายไร้สาย และโทรศัพท์ดิจิทัล ทำให้บุคคลสามารถสร้าง ใช้ และเผยแพร่สารสนเทศ ความรู้และความบันเทิง ก่อให้เกิดการร่วมมือที่จะแบ่งปันความรู้ของปัจเจกบุคคลโดยปราศจากข้อจำกัดในด้านภูมิศาสตร์ ระยะทาง และเวลา (Friedman, 2005) การเปลี่ยนแปลงหลักที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้แก่
ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ได้เปลี่ยนจากการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อส่งอีเมล์ การพูดคุย การดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ โปรแกรม สื่อดิจิทัล การหาข้อมูล การแลกเปลี่ยนความเห็นผ่านเว็บบอร์ด เป็นการใช้เทคโนโลยี Web 2.0 ซึ่งเป็นรูปแบบของเว็บไซต์รุ่นที่สอง ซึ่งให้บริการบนอินเทอร์เน็ตกับผู้ใช้ทั่วไป ในการเก็บรวบรวม และการแลกเปลี่ยนสารสนเทศผ่านระบบออนไลน์ เน้นการนำเข้าเนื้อหาจากผู้เขียนที่หลากหลายนำไปแสดงในเว็บไซต์โดยใช้ รูปแบบที่ดูง่าย แต่น่าสนใจ น่าติดตาม สร้างเครือข่ายทางสังคม (Thomas, 2006)
Web 2.0 เป็นการเปลี่ยนสภาพของเว็บ จากการรวมของเว็บไซต์หลายๆ แห่งมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการกับผู้ใช้ผ่านเว็บ เช่น การเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ข้อมูล ผู้ใช้สามารถเขียนเล่าเรื่องส่วนตัว แบ่งปันรูปภาพ เสนอความคิดเห็น ค้นหาแหล่งข้อมูล ความแตกต่างระหว่าง Web 2.0 กับเว็บไซต์ปัจจุบัน (Web 1.0) คือความสามารถในการสื่อสารโต้ตอบ ความสามารถในการปรับปรุงข้อมูลด้วยตนเองโดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ดูแลเว็บไซต์ (Webmaster ) ความสามารถในการต่อยอดข้อมูล องค์ความรู้โดยไม่จำกัดโดยที่ข้อมูลจะถูกตรวจสอบคัดกรองอยู่ตลอดเวลา
จากแนวโน้มดังกล่าว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจึงได้เริ่มพัฒนาห้องสมุดดิจิทัล (The Digital Library) โดยพิจารณาจากคุณสมบัติของห้องสมุดดิจิทัล (Leiner,1998) แต่กำหนดรูปแบบ (Model) ให้เหมาะสมจากสภาพที่เป็นอยู่ ความพร้อมของผู้เรียน สภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย เช่น
สถานะปัจจุบันของการพัฒนาองค์ความรู้ให้กับชุมชนและสังคม
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีได้เริ่มจัดทำโครงการนำร่องการพัฒนาห้องสมุดดิจิทัลที่ผสมผสานกับการให้บริการ e-Learning โดยในระยะแรกเป็นการจัดทำเว็บไซต์เพื่อเป็นช่องทางในการเข้าถึง และเผยแพร่ (http://www.dl.rmutt.ac.th/) ซึ่งเว็บดังกล่าวจะเปิดบริการในเดือนพฤศจิกายน 2551 เนื้อหาหลักประกอบด้วย
รูปที่ 1: เว็บเพจห้องสมุดดิจิทัลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
การจัดทำห้องสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยเป็นกิจกรรมที่ดำเนินการควบคู่กับห้องสมุดในรูปแบบเดิมเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้เพิ่มเติม เป็นห้องสมุดทางเลือกให้กับผู้รักการอ่านรุ่นใหม่ และช่วยลดพื้นที่ในการจัดเก็บ แต่เพิ่มพื้นที่การให้บริการทั้งในเชิงกายภาพ และเสมือนจริง รวมทั้งเป็นการขยายเครือข่ายห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาเพื่อสร้างความร่วมมือสู่ความเป็นเลิศและความเป็นสากล
บทสรุป
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาห้องสมุดอย่างต่อเนื่องในฐานะเป็นหัวใจหลักของงานบริการวิชาการ การพัฒนาได้เริ่มเปลี่ยนจากการพัฒนาในเชิงกายภายภายในขอบเขตของมหาวิทยาลัย เป็นการขยายขนาดทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ โดยลดข้อจำกัดทางกายภาพ ภูมิศาสตร์ และเวลา เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ที่มีผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาในประเทศ และต่างประเทศ ถือเป็นปัจจัยหลักที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่จะช่วยผลักดันให้มหาวิทยาลัยสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สมบูรณ์
อย่างไรก็ตามการสร้างเครือข่ายความร่วมมือให้ประสบความสำเร็จในระยะแรกจะต้องเป็นการให้มากกว่าการรับ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้พิจารณาถึงความสามารถหลักและทรัพยากรที่จะต้องนำออกเผยแพร่เพื่อให้สถาบัน หรือบุคคลสามารถเข้าใช้ได้ในลักษณะเปิด ดำเนินการสร้างและใช้เครื่องมือ เนื้อหา เพื่อรองรับการให้บริการโดยคำนึงถึงลูกค้าเป็นหลัก รวมทั้งมีการประเมินประสิทธิผล ความสำเร็จและความล้มเหลวเพื่อการเรียนรู้และใช้ปรับแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้สามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
Leiner, M. (1998). The Scope of the Digital Library. [Online] Retrieved on October 18, 2008 from the World Wide Webhttp://www.dlib.org/metrics/public/papers/dig-lib-scope.html
Friedman, T. (2005). The World is Flat. Farrar. Straus and Giroux.
Tech Terms.com (2008).The Tech Terms Computer Dictionary. Online] Retrieved on October 19, 2008 from the World Wide Webhttp://www.techterms.com/definition/metadata.
Thomas. S. (2006). Web 2.0, Library 2.0 and the Future for Library Systems. [Online] Retrieved on October 15, 2008 from the World Wide Webhttp://digital.library.adelaide.edu.au/dspace/bitstream/2440/14789/1/Web2.0.pdf.