มหันตภัยจากภัยธรรมชาติที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นในระยะหลังๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำท่วมครั้งใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้เมื่อปีที่ผ่านมารวมไปถึงต้นปีนี้ส่งผลกระทบมาถึงธุรกิจประกันภัยโดยตรงต้องหันมาให้ความสำคัญกับการบริหาร จัดการการรับประกันภัยน้ำท่วมจริงจังมากขึ้น
ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย สำนัก งานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า คปภ.ให้ความสำคัญถึงการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมภัยธรรมชาติต่างๆ มาหลายปีแล้ว ซึ่งในแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 2 ได้เล็งเห็นความสำคัญตรงนี้ในอนาคตข้างหน้าจะมีผลกระทบมาถึงภาคส่วนต่างๆ จึงกำหนดเป็น มาตรการดำเนินการ 4 ข้อ ซึ่งภัยธรรมชาติอยู่ในมาตรการที่ 1 ว่าด้วยการเสริมสร้างความเชื่อมั่นตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและการเข้าถึงระบบประกันภัยของประชาชนทุกระดับ
มหันตภัยเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ กำหนดแผนการดำเนินงานและศึกษาแนวทางต่างๆ รองรับ โดยศึกษารูปแบบของประเทศเพื่อนบ้านที่มีสภาวะแวดล้อมใกล้ประเทศไทย อาทิ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไต้หวัน เกาหลี ใต้ ดูรูปแบบทำอย่างไรเพื่อนำมาเป็นแนวทางศึกษา แนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ มีหน่วยงานองค์กรเฉพาะกิจบริหารจัดการมหันตภัยโดยบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทรับประกันภัยต่อร่วมกันจัดตั้งขึ้นเป็น “โค อินชัวรันส์” หรือสมทบเงินเป็นเงินกองทุนหรือเข้ามาถือหุ้นในบริษัทแห่งนี้โดยภาครัฐต้องมาร่วมดูแลด้วย
“สำหรับมหันตภัยหลักๆ เรามองน้ำท่วม แผ่นดินไหวจะให้สินค้าตัวนี้ออกมาก่อนใช้กับบ้านอยู่อาศัย ก่อนขยายไปถึงลูกเห็บในระยะยาว ส่วนที่ 2 คือการจัดทำโซนนิ่งให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของพื้นที่ เบี้ยประกันจัดเก็บเพียงพอบนหลักการบริษัทประกันภัยอยู่ได้ ประชาชนได้รับความคุ้มครอง คปภ. สมาคมต้องผลักดันสำเร็จเป็นรูปธรรม”
ประธานคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สิน สมาคมประกันวินาศภัย ให้ความเห็นว่าปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นคือ 1.วงจรความเสียหายมหันตภัยสั้นลงเหลือ 5-10 ปีจากเดิม 100 ปี 2.ความเสียหายกินพื้นที่กว้างขึ้น และ 3.การสะสมของภัยมากขึ้นทุกปี บริษัทรับความเสี่ยงมากขึ้น มองว่าถ้าปล่อยไปอันตราย หากความเสียหายมาก บริษัทประกันภัยไม่กล้ารับ ผู้บริโภคไม่ยอมรับ
ทางคณะกรรมการชุดนี้เตรียมความ พร้อมหลายด้าน 1.รีบศึกษาน้ำท่วมคุ้มครองกว้างพอหรือไม่ เป็นที่มาของการสร้างกรมธรรม์บ้านอยู่อาศัยมองควบภัยน้ำท่วม แผ่นดินไหว พายุที่จะมาพร้อมกัน คำนวณ 3 ภัยคุ้มครองชัดเจนไม่งั้นอุดไม่หมด มีช่องว่าง 2.อย่างน้อยมีข้อมูลจากดาวเทียมรู้ที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมมีประวัติศาสตร์ย้อนไป 5 ปี ยิ่งหากได้ข้อ มูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (องค์กรมหาชน) หรือสทอภ.ที่เรากำลังร่วมกันจัดทำแผนที่ความ เสี่ยงภัยน้ำท่วม (Flood Mapping) กันอยู่ การมีแผนที่น้ำท่วมสามารถกำหนดได้ว่าแต่ละพื้นที่มีความเสี่ยงอย่างไร พื้นที่ไหนน้ำท่วมเบี้ยจะลดลง
“เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วเราเอามาดูที่ใดเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเอามาเวิร์กกับชมรมสินไหม ถ้าส่วนไหนน้ำท่วม 30 ซม. 1 เมตร 2 เมตรความเสียหายเท่าไหร่เกิดกับสิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร สต็อกสินค้าและกี่เปอร์เซ็นต์อีกด้านมาบอกตัวเลขความเสีย หายเท่าไหร่เพื่อประเมินความเสียหายที่เป็นไปได้เกิดกับกรมธรรม์ที่รับอยู่จากน้ำท่วม เช่น กรณีท่วม 1 เมตรความเสียหาย เท่าไหร่ ทำเป็น Flood Zone Flood Model กำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าไหร่ ดูในส่วนที่ผู้เอาประกันภัยมีมาตรการป้องกันมาตรการลดความเสี่ยงภัย หลีกเลี่ยงน้ำท่วมได้ควรได้ส่วนลดเบี้ยประกันเท่าไหร่ เป็นงานที่เราทำกัน”
การทำแผนที่ความเสี่ยงภัยจะเสร็จในอีก 6 เดือนข้างหน้านี้จะเริ่มจาก 16 จังหวัดลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและท่าจีนก่อนขยายไปยังปิง วัง ยม น่าน แม่น้ำมูล ชี ให้ครบทุกสายใช้เวลา 2-4 ปี เป็นนโยบายที่ทางคณะกรรมการประกันภัยทรัพย์สินกำหนดไว้แล้วอาจจะใช้เวลา 3-4 ปีเพื่อรองรับนโยบายของคปภ.ในการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยพื้นฐาน ในอนาคตสามารถก่อตั้งพูลน้ำท่วมหรือภัยธรรมชาติขึ้นมา