วันหนึ่ง ๆ คุณใช้คอมพิวเตอร์ทำเรื่องต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม แต่ อยู่มาวันหนึ่งเครื่องที่คุณใช้งานอยู่ดี ๆ จู่ ๆ มันก็ขึ้นจอสีฟ้าที่เต็มไปด้วยเลขอะไรก็ไม่รู้ซะได้ จะเรียกว่าภัยพิบัติมาเยือนก็คงจะได้สำหรับหลาย ๆ คนเพราะมันมีความหมายว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของคุณได้อำลาไปสวรรค์เสียแล้ว จะทำยังไงดีกับข้อมูลที่อยู่ข้างในล่ะทีนี้มีแต่ของสำคัญทั้งนั้นเลยด้วย
แต่ใจเย็น ๆ ก่อน!!! อาการจอฟ้านั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องร้ายแรงถึงขนาดต้อง Format Hard Disk เพื่อติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ก็เป็นไปได้หากคุณสามารถรู้ได้ว่า Code ที่แสดงอยู่บนจอสีฟ้านั้นกำลังบอกอะไรกับคุณอยู่ล่ะก็ การล้างเครื่องเพื่อลงโปรแกรมใหม่ทั้งหมดก็จะเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นอีกต่อไปเพราะบ้างครั้งการ Format ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแม้แต่นิดเดียวก็เป็นได้
Blue Screen คืออะไร?
“Blue Screen of Death” “จอฟ้ามรณะ” “มฤตยูจอฟ้า” หรือ “จอฟ้าแห่งความตาย” ไม่ว่าจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ตามใจชอบ แต่ไอ้เจ้า Blue Screen นั้นมันก็คือสิ่งที่ไม่มีใครพึงประสงค์อยากเจอมากที่สุด เชื่อแน่ ว่าผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทุกคนไม่ว่าจะมือใหม่ มือฉมวก หรือมือฉมัง ก็จะต้องเคยเจอกับอาการแบบนี้มาบ้างไม่มากก็น้อย ถ้าเป็นมือใหม่หัดขับก็อาจถึงกับลนลานรีบต่อสายตรงหาช่างเทคนิคกันให้วุ่นเลยทีเดียว แต่ทั้งที่จริง ๆ แล้วมันอาจไม่ได้เป็นอะไรร้ายแรงอย่างที่คิดเลยก็ได้
Blue Screen ก็คือ หน้าจอที่ทำหน้าที่แจ้งอาการผิดปกติของระบบปฏิบัติการ Windows นั่นเองซึ่งอาการที่จะทำให้เกิดหน้าจอมหาประลัยนี้ก็เกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุ ทั้งด้านซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ก็ได้ แต่บางทีก็เกิดมันพร้อม ๆ กันเลยก็มี เหตุที่ใคร ๆ เขาตั้งชื่อเจ้า Blue Screen ให้มันน่ากลัวขนาดนี้ก็เพราะถ้าหน้าจอสีฟ้านี้แสดงขึ้นมามันหมายความว่าอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นค่อนข้างหนักหนาจน Windows ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ นอกจากรีเซ็ตเครื่องเพียงอย่างเดียว ซึ่งเมื่อทำการรีเซ็ตเครื่องหลังจากขึ้น Blue Screen แล้วก็สามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ต่อได้แต่ไม่ได้หมายความว่าปัญหาจะหมดไปเพราะวันดีคืนดีไอ้เจ้าหน้าจอมรณะก็อาจจะกลับมาหลอกหลอนกันอีกก็ได้เพราะสาเหตุของปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไขแต่บางกรณีแค่บูสเครื่องก็ไปไม่รอดแล้ว
ถ้าจะถามว่าทำไมถึงได้เกิด Blue Screen ได้ทั้ง ๆ ที่ใช้งานมาตั้งนานยังไม่เคยมีปัญหาแบบนี้เลย? คำตอบของปัญหานี้จะไปโทษระบบปฏิบัติการเพียงอย่างเดียวก็คงจะไม่ได้เพราะการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องประกอบไปด้วยฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เป็นหลัก ฮาร์ดแวร์ถ้าไม่มีซอฟต์แวร์คอยควบคุมจัดการอยู่แล้วล่ะก็มันก็ไม่ต่างจากกล่องเหล็กไร้ประโยชน์ ในทางกลับกันถ้าซอฟต์แวร์ไม่มีฮาร์ดแวร์คอยรองรับคำสั่งแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากเจ้านายที่ปราศจากลูกน้องมาคอยรับคำสั่งแล้วปฏิบัติงานตามคำสั่งเหล่านั้นมันจำเป็นจะต้องอยู่เป็นคู่กันปานกาแฟกับคอฟฟี่เมต
แล้วทำไมหน้าจอฟ้าถึงพบบ่อยนักในระบบปฏิบัติการ Windows ทุกยุค ทุกสมัย เหตุผลก็เพราะ Windows เป็นระบบปฏิบัติการที่จำเป็นต้องออกแบบให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้ได้หลากหลายที่สุดเท่าที่จะทำได้ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องความนิยมใช้แตกต่างจาก Unix หรือ Mac OS ที่ออกแบบมาเพื่อเครื่องของตัวเองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ตัวอย่างง่าย ๆ แค่เมนบอร์ดที่ใช้กันในปัจจุบันก็มีมากมายหลายยี่ห้อ หลายรุ่น เข้าไปแล้ว ยังไม่นับรวมการ์ดต่าง ๆ รวมไปถึงของใช้งานกระจุกกระจิกอย่างพวกกล้องเว็บแคมหรือปริ๊นเตอร์เลย ซึ่งอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าเกิดปัญหาเรื่องความไม่เข้ากันเมื่อไหร่ทูตมรณะจอฟ้าก็จะมาเยือนคุณทันที
ใน Windows NT, 2000 และ XP นั้นอาการจอฟ้า หรือ Blue Screen ที่เกิดขึ้น มักเกิดมาจากเคอร์แนล (Kernel )หรือไดร์ฟเวอร์ (Driver) ที่เกิดทำงานผิดพลาดโดยที่ไม่สามารถจะคืนสภาพการทำงานให้กลับมาเหมือนเดิมได้ เช่น ไดร์ฟเวอร์ส่งค่าบางอย่างที่ไม่ถูกต้องไปยังกระบวนการอื่นๆ ทำให้ตัวระบบปฏิบัติการทำงานผิดพลาด วิธีเดียวที่ผู้ใช้จะแก้ไขได้ คือ รีบูตเครื่องคอมพิวเตอร์ (Reboot) ซึ่งนั่นหมายความว่า ข้อมูลหรืองานที่คุณกำลังทำอยู่มีโอกาสที่จะหายไปด้วยเพราะ Windows ไม่ได้ถูกสั่งปิดแบบปกติการพิจารณาแก้ปัญหาจอฟ้าเราสามารถดูได้จากข้อความและ Error Code ที่แสดงออกมาบางปัญหาวินโดวส์จะแสดงข้อความที่เป็นสาเหตุอย่างชัดเจน แต่บางปัญหาก็ไม่สามารถอาศัยข้อความที่แสดงเพียงอย่างเดียว ต้องนำเอา Error Code มาร่วมพิจารณาด้วย Error Code ที่พบบ่อย ๆ ในระบบปฏิบัติการ Windows ก็จะมีดังต่อไปนี้
Error Code : Stop 0x0000000A
หมายความว่า เคอร์แนลโหมดโปรเซส (Kernel-mode process) หรือ ไดร์ฟเวอร์ (driver) นั้นไม่สามารถจะเข้าถึง เมโมรี่ (memory) ที่จองไว้ได้ อาจจะมีสาเหตุเพราะไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึง หรือค่าที่เคอร์แนลในระดับ IRQL นั้นอยู่สูงเกินไป แต่เคอร์แนลโหมดโปรเซสที่มีค่า IRQL ต่ำกว่าสามารถเข้าถึงหน่วยความจำนั้นได้ โดยส่วนมาก Stop Message นี้มักจะมาจากการการเข้ากันไม่ได้ของฮาร์ดแวร์หรือซอฟท์แวร์ที่อยู่ในเครื่องนั่นเอง
ในส่วนของซอฟท์แวร์อาจเกิดหลังการติดตั้ง ดีไวท์ไดร์ฟเวอร์ (device driver) , ซิสเต็มเซอร์วิส (system service) หรือ เฟิร์มแวร์ (Firmware) ที่เสียหายหรือไม่สมบูรณ์ หาก Stop Message นั้นแสดงชื่อไดร์ฟเวอร์ที่ผิดพลาดมาด้วยก็ให้แก้ไขโดยการยกเลิกหรือโรลแบ็ค (rollback) กลับไปใช้ไดร์ฟเวอร์ที่สมบูรณ์ก่อน หรือหากยังแก้ไขไม่ได้อาจจะเป็นที่ไฟล์ที่ใช้ในการติดตั้งไดร์ฟเวอร์เกิดเสียหาย เพราะไวรัสก็ได้ ในส่วนของฮาร์ดแวร์หากเออเรอร์นี้จะแจ้งประเภทของอุปกรณ์ (Device) ที่มีปัญหามาให้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น กราฟิกการ์ดหรือไดรฟ์ ก็ให้ลองปลดหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ที่ Error Message แจ้งมาอาจจะช่วยแก้ปัญหาได้
Error Code : 0x0000001E
ค่า 0x1E เป็นเครื่องบ่งบอกว่าได้ตรวจสอบพบชุดคำสั่งที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่อาจระบุได้ ปัญหาที่พบจาก 0x1E นั้นใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของ 0xA อาจจะแตกต่างกันเล็กน้อย ที่ ค่า 0xA เกิดจากการใช้งานผิดพลาดที่หน่วยความจำ แต่ เจ้า 0x1E นั้น เป็นการผิดพลาดจากชุดคำสั่ง โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นหลังจากติดตั้งไดร์ฟเวอร์(driver) หรือ ซิสเต็มเซอร์วิส (system service) ที่ผิดพลาด หรือเกิดจากอุปกรณ์ที่ติดตั้งลงไปใหม่นั้นทำให้เกิดการขัดแย้งหรือแย่งกันใช้งานค่าบางอย่าง เช่น หน่วยความจำหรือ IRQ ( memory or IRQ conflicts) ถ้าเกิดความผิดพลาดในส่วนนี้ที่จอฟ้าจะแสดงรายละเอียดของชื่อไดร์ฟเวอร์ที่มีปัญหาขึ้นมา ให้เราลองหยุดใช้หรือถอดถอนไดร์ฟเวอร์ตัวนี้ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หรืออาจจะเป็นที่ไฟล์ไดร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งนั้นเสียหายจากไวรัส เป็นต้น
แต่ถ้าหากในข้อความบนจอฟ้านั้นได้อ้างถึงไฟล์ชื่อ Win32k.sys อาจจะเกิดจากมีการติดตั้งไฟล์ตัวนี้มาแทนที่จากโปรแกรมอื่น ๆ วิธีแก้ก็ลองให้พยายามยกเลิกซิสเต็มเซอร์วิส นี้ โดยการเข้าไปใน Safe Mode แต่หากยังแก้ไขไม่ได้ คงต้องใช้งาน รีโคฟเวอร์รี่คอนโซล (Recovery Console) เพื่อลบไฟล์ซิสเต็มเซอร์วิสที่สร้างปัญหานั้นทิ้งเสีย แต่ยบางทีปัญหานี้ก็อาจจะเกิดมาจากอัพเดทไบออส (Update Bios) ที่เข้ากันได้ไม่สมบูรณ์ เช่นไบออสที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานพลังงาน (ACPI) ให้ลองแก้ไขโดยการกลับไปใช้ไบออสตัวเก่าหรือหาตัวที่สมบูรณ์กว่านี้
อีกสาเหตุหนึ่ง อาจมาจากพื้นที่ฮาร์ดดิสก์ (Hard disk) ไม่เพียงพอต่อการติดตั้งโปรแกรม ซึ่งถ้าเกิดจากสาเหตุนี้แก้ได้ง่าย ๆ เพียงแต่จัดสรรหรือบริหารพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน เช่น การลบ เทมโพรารี่ไฟล์ (Temporary File) ทิ้งเสีย (พวกไฟล์นามสกุล .tmp) พวกอินเตอร์เน็ตแคชไฟล์ (Internet Cache files) หรือ ไฟล์ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วก็กลับไปติดตั้งโปรแกรมที่ต้องการต่อได้ หรืออีกสาเหตุหนึ่งก็คือหน่วยความจำไม่เพียงพอต่อการใช้งาน เนื่องจากโปรแกรมหรือเซอร์วิสบางตัวนำหน่วยความจำไปใช้งานแล้วไม่ยอมคืนหน่วยความจำกลับมา ให้คุณใช้ยูทิลิตี้ (Utility) ที่ชื่อว่า Poolmon (Poolmon.exe) มาช่วยเหลือ (อยู่ในไดเรกทอรี \Support\Tools\ของแผ่นติดตั้ง Windows XP) เจ้าตัวนี้สามารถช่วยคุณตรวจสอบว่าโปรแกรมตัวไหนนำหน่วยความจำไปใช้ และไม่ยอมคืนบ้าง เมื่อเจอแล้ว คุณอาจต้องถอนการติดตั้งโปรแกรมนั้นเสีย
Error Code : 0x00000024
0x24 บ่งบอกถึงปัญที่เกิดขึ้นจากไฟล์ Ntfs.sys ซึ่งเป็นไดร์ฟเวอร์ (driver) ที่ใช้ในการอนุญาตให้ระบบสามารถอ่านและเขียนระบบไฟล์ซิสเต็ม (File System) แบบ NTFS มีความผิดปกติอาจเกิดจากการทำงานผิดพลาดของฮาร์ดแวร์ SCSI หรือ ATA หรือไดร์ฟเวอร์ ที่เกี่ยวข้องกับอุปกรณ์จำพวกนี้ ทำให้เกิดความผิดพลาดในการอ่านหรือเขียนข้อมูลในฮาร์ดดิสมีปัญหา ซึ่งถ้าคุณใช้งานฮาร์ดแบบ SCSI ให้ตรวจสอบที่รายละเอียดในส่วนของสายเชื่อมต่อ หรือจุดเชื่อมต่อต่างๆ และลองตรวจสอบที่อีเวนท์วิวเวอร์ (Event Viewer) เพื่อตรวจหาข้อผิดพลาดที่อาจจะเกี่ยวข้องกับอุปกรณ์ ดังกล่าว
โดยต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าระบบที่ใช้ในการตรวจสอบระบบของคุณ ไม่ว่าจะเป็นระบบป้องกันไวรัส (Anti-virus) หรือระบบแบ็คอัพ (Backup) ที่ใช้งานทำงานเข้ากันได้อย่างสมบูรณ์กับระบบปฏิบัติการหลังจากนั้นให้ลองตรวจสอบกับอุปกรณ์ที่คุณใช้งาน บางชิ้นนั้นจะให้มากับเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบความสมบูรณ์ของมันได้เช่น Diagnostic Tool หากไม่มีเครื่องมือจำพวกนี้มาให้ เราก็สามารถตรวจสอบได้จากเครื่องมือของ Windows ที่ให้ซึ่งมี 2 วิธีดังนี้ (ควรทำใน Safe Mode)
วิธีที่ 1
คำสั่ง ว่า “chkdsk [drive:] /f” (drive: คือชื่อไดรฟ์ที่คุณต้องการตรวจสอบ เช่น C: D: E: หรือ F: เป็นต้น)
ข้อควรระวัง ถ้าคุณไม่ได้ใช้งานระบบ NTFS ไฟล์ที่มีการตั้งชื่อยาวกว่า 8 ตัว อักษร อาจจะเกิดการสูญหายไปจากฮาร์ดดิสก์ได้ หลังจากการตรวจสอบด้วยวิธีนี้
วิธีที่ 2
อีกสาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากปัญหา Nonpage pool memory ในหน่วยความนำในระบบหมดสิ้นอย่างสิ้นเชิง สาเหตุนี้สามารถแก้ได้อย่างง่ายดายโดยการไปซื้อ RAM มาเพิ่มแค่นั้นเองแหละ
Error Code : 0x0000002E
0x2E บ่งบอกถึงระบบตรวจสอบหน่วยความจำมีความผิดพลาด ซึ่งอาจจะเกิดมาจากความผิดพลาดในส่วนของการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล (ECC) หน่วยความจำในที่นี้รวมไปถึงหน่วยความจำหลักบนเมนบอร์ด (Mainboard), แคชแอลทู (Cache L2) หรือแม้หน่วยความจำในการ์ดแสดงผล (VGA Card) ซึ่งจากสาเหตุที่เกิดขึ้นมาในข้างต้นนั้น ทำให้เกิดกันเข้ากันอย่างไม่สมบูรณ์ หรือความผิดพลาดบางอย่างในตัวอุปกรณ์ หรือดีไวซ์ไดรเวอร์ (device driver) นั้นพยายามจะเข้าถึงหน่วยความจำในตำแหน่งที่มีอยู่จริง ก็ทำให้เกิดอาการจอฟ้าได้ แต่บางที 0x2E ก็สามารถเกิดได้จากความเสียหายของฮาร์ดดิสก์ (Harddisk) เองได้เหมือนกัน โดยทั่ว ๆ ไปจะเกิดจากการผิดปกติ การทำงานคลาดเคลื่อน หรือการพังของอุปกรณ์หน่วยความจำในระบบ เช่น หน่วยความจำปกติ (RAM) , Cache L2 หรือหน่วยความจำในการ์ดแสดงผล ให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์ที่อาจจะเกิดความเสียหาย
บางครั้งความผิดพลาดนี้มักจะเกิดขึ้นหลังจากการที่คุณติดตั้งดีไวซ์ไดรเวอร์ที่มีความเสียหาย ถ้าความผิดพลาดนั้นแสดงรายละเอียดของไฟล์หรือชื่อของส่วนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ก็ให้แก้ไขด้วยวิธีเดิม ๆ ในข้างต้น คือยกเลิกการใช้งาน หรือถอดถอนทิ้งหรือถอยกลับไปใช้ไดรเวอร์ในรุ่นที่ยังใช้งานได้ดีอยู่ และให้ลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของบริษัทผู้ผลิตเพื่อดูรายระเอียดดีไวซ์ไดรเวอร์ที่เข้ากันได้สมบูรณ์กับระบบ
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งฟังดูแล้วก็น่าขำแต่ขำไม่ออกก็คือเกิดจากคราบสกปรกที่เกาะอยู่ตามผิวของอุปกรณ์ที่เมนบอร์ดนั่นเองแหละแต่ถ้าหากตรวจสอบและทำความสะอาดแล้วยังมีปัญหาอยู่ก็ส่งเครมสถานเดียว
Error Code : Stop 0x0000003F
0x3F มักเกิดขึ้นจาก Page Table Entries (PTE) ของระบบเกิดการทำงานผิดพลาดหรือไม่ปะติดปะต่อกัน เมื่อระบบทำงานประมวลผลชุดคำสั่งที่มีการใช้ตัวเลขจำนวนมากในการประมวลผลหรืออาจเกิดจำดีไวซ์ไดรเวอร์ (device driver) ที่ติดตั้งนั้นไม่สามารถบริหารหน่วยความจำได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือ อาจเกิดจากโปรแกรมบางตัวจัดสรรหน่วยความจำที่เคอร์แนล (Kernel) ต้องการใช้งานไม่ถูกต้อง
เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นหลังจากที่คุณติดตั้งไดรเวอร์ที่ไม่สมบูรณ์ ถ้าความผิดพลาดนั้นแสดงรายละเอียดของไฟล์หรือชื่อของส่วนที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาด ก็ให้แก้ไขด้วยวิธีเดิม ๆ ในข้างต้น คือการยกเลิกการใช้งานหรือกลับไปใช้ไดรเวอร์ตัวเก่า แต่จริง ๆ แล้ว PTEs นั้นอาจจะเหลืออีกเพียบ แต่ความผิดพลาดนี้ก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก เพราะว่าขนาดของ contiguous memory block ที่ไดรเวอร์ (driver) หรือหน่วยความจำต้องใช้งานไม่เพียงพอ วิธีแก้ลองอัพเดทไดรเวอร์ตัวใหม่ที่สมบูรณ์ หรือโปรแกรมเวอร์ชันใหม่ ๆ และให้ลองตรวจสอบจากเอกสารติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวด้วย เกี่ยวกับ Minimum system reqirements ว่าต้องการเท่าใด
Error Code : 0x00000050
0x50 เกิดจากการเรียกใช้ข้อมูลซึ่งมิได้อยู่ในหน่วยความจำ ระบบจะรายงานรหัสความผิดพลาดนี้ขึ้นมาเมื่ออ้างถึงค่าบางค่าในเมโมรีแอดเดรสที่ไม่มีอยู่จริง หน่วยความจำในที่นี้รวมไปถึง L2 Cache และ หน่วยความจำในการ์ดแสดงผลด้วยถ้าความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นมาหลังจากคุณติดตั้งฮาร์ดแวร์ใหม่เข้าไป ให้ถอดหรือเปลี่ยนฮาร์ดแวร์ดังกล่าว ถ้าหากพอจะแก้ไขปัญหานี้ได้ก็ให้รัน Diagnostic tools เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในบางส่วนของอุปกรณ์ หรือบางครั้งก็เกิดขึ้นหลังจากคุณได้ติดตั้งดีไวซ์ไดรเวอร์ที่เสียหายลงไปในระบบของคุณ ให้ลองถอดถอนออกจากระบบ หรือกลับไปใช้ไดรเวอร์ตัวที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหา
Error : 0x00000077
0x77 แสดงถึงข้อมูลซึ่งถูกเรียกใช้จากเวอร์ชวลเมโมรี(Virtual Memory) ไม่สามารถหาพบหรืออ่านไปยังหน่วยความจำได้ ในกรณีนี้อาจจะหมายถึงฮาร์ดิสก์มีความเสียหาย หรือข้อมูลได้ถูกทำลาย หรืออาจจะเป็นไปได้ที่จะมีไวรัสอยู่ในระบบ ความผิดพลาดนี้อาจจะเกิดมาจาก Bad Sector หรือดิสก์คอนโทรลเลอร์ (disk controller) มีความผิดพลาด หรือในกรณีที่อาจจะเกิดยากหน่อยก็คือ ค่า Non page pool หมดสิ้นไปจากระบบเลย ก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดนี้ได้เหมือนกัน ถ้าคิดว่ามาจากปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายของดิสก์ให้ลองใช้โปรแกรม ” Autochk” เพื่อตรวจสอบ และระบุ Bad Sector ที่เกิดขึ้นบนดิสก์
อีกกรณีที่ทำให้เกิดความผิดพลาดนึ้อาจมาจากเสียหายของหน่วยความจำที่มีอยู่ในระบบ อาทิ หน่วยความจำหลัก , Cache L2 หรือ หน่วยความจำในการ์ดแสดงผล ให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์เหล่านี้ อาจจะแก้ปัญหาได้หรืออีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากคราบสกปรกที่เกาะอยู่ตามผิวของอุปกรณ์บนเมนบอร์ดก็เป็นไปได้เช่นเดียวกัน
Error Code : 0x00000079
0x79 บ่งบอกถึง hardware abstraction layer (HAL) และชนิดของเคอร์แนล (Kernel) ที่ใช้งานไม่ตรงกัน หรือพูดง่าย ๆ ก็คือฮาร์ดแวร์ที่วินโดวส์ (Windows) รู้จักไม่ตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้ง โดยส่วนมากความผิดพลาดนี้มักจะเกิดมาจากค่า ACPI มีการเปลี่ยนแปลง ยกตัวอย่างเช่น การนำ OS ที่เป็นแบบ Multi processor มาใช้งานบนเครื่องที่เป็น Single Processor เป็นต้น
ความผิดพลาดชนิดนึ้เกิดจากระบบที่ใช้งานไฟล์ Ntoskrnl.exe หรือ Hal.dll ที่เก่าเกินไป ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายๆ โดยการก๊อบปี้ไฟล์ที่ถูกต้องไปทับไฟล์เดิม ซึ่งไฟล์พวกนี้สามารถหาได้จากแผ่นติดตั้งวินโดวส์นั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น Windows XP ในบนระบบซิงกิ้ลโปรเซสเซอร์ไฟล์เคอร์แนลจะชื่อ Ntoskrnl.exe แต่บนระบบมัลติโปรเซสเซอร์ ไฟล์เคอร์แนลใช้ชื่อว่า Ntkrnlmp.exe เป็นต้น
อีกสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากไบออส (Bios) ไม่ได้กำหนดหมายเลข IRQ ให้กับ ACPI ดังนั้นคุณสามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเองโดยการกำหนดค่า IRQ ให้เองภายในไบออสภายใต้หัวข้อ ACPI
Error Code : 0x0000007B
0x7B หมายถึง Windows XP ไม่สามารถเข้าถึงSystem Partition หรือ Boot Volume ในระหว่างเริ่มต้นกระบวนการทำงาน หรืออาจเกิดจากติดตั้งหรือการอัพเกรดไดรเวอร์ของ Storage Adapter ผิดรุ่นปัญหานี้พบเจอได้บ่อยมากในโน๊ตบุ๊ค (Note Book) รุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการจะใช้ Windows XP เนื่องจากปัจจุบัน Storage Adapter หรือที่เราเรียกกันว่าฮาร์ดดิส (Hard disk) นั้นเป็น SATA ซึ่ง Windows XP นั้นไม่รู้จักจึงมักจะทำให้เกิดความผิดพลาดนี้ขึ้น ให้เราลองตรวจสอบเฟิร์มแวร์ของระบบ ไม่ว่าเป็นของดิสก์คอนโทรลเลอร์ หรือการตั้งค่าไบออส (Bios) ของเมนบอร์ดว่าถูกต้องหรือไม่ หรือในบางกรณี Windows ไม่รู้จักอุปกรณ์ดิสก์คอนโทรลเลอร์นั้นๆ ให้ลองหาไดรเวอร์จากผู้ผลิตหรือจากเว็บไซต์เพื่อนำมาติดตั้ง ก็จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
Error Code : Stop 0x0000007F
0x7F นั้นบ่งบอกถึงปัญหาที่เคอร์แนล (Kernel) ไม่อนุญาตให้เข้าใช้งาน bound trap ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับฮาร์ดแวร์ด้วยส่วนมากมาจากความผิดพลาดหรือล้มเหลวในส่วนของหน่วยความจำหลัก ถ้าคุณได้ติดตั้งอุปกรณ์ใหม่เข้าไป ให้ลองถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ดังกล่าว
นอกจากนี้การโอเวอร์คล็อกซีพียู (Over clock CPU) ก็สามารถทำให้เกิดความผิดพลาดนี้หรือความผิดพลาดหมายเลขอื่นๆ ได้ เนื่องจากความร้อนที่สูงขึ้นอาจทำให้ซีพียูทำงานผิดพลาดได้ หากเกิดปัญหานี้ขึ้นสำหรับเครื่องที่โอเวอร์คล็อกให้ลองลดการโอเวอร์คล็อกกลับมาที่ความเร็วซีพียูเดิมก็จะช่วยแก้ปัญหาได้ และอีกสาเหตุหนึ่งก็คือมีคราบสกปรกที่เกาะอยู่บนเมนบอร์ด ถ้ามีควรทำความสะอาดเสียให้เรียบร้อย
Error Code : 0x000000C2
0xC2 หมายถึง kernel-mode process หรือไดรเวอร์ (driver ) บางตัว เกิดการใช้งานหน่วยความจำที่ผิดพลาดโดยอาจจะมีสาเหตุมาจากทางใดทางหนึ่งดังนี้
• การจัดสรร Memory Pool ที่ขนาด เป็น 0 (ศูนย์)
• การจัดสรร Memory Pool ที่มีอยู่จริง
• การสั่งการให้ Memory Pool นั้นเป็น Free memory pool ทั้งที่มันว่างอยู่แล้ว
• การจัดสรรหรือการสั่งการให้เป็น Free memory pool ที่ค่า IRQL สูงเกินไป
• ความผิดพลาดของไดรเวอร์หรือซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน
ถ้าหากเกิดความผิดพลาดขึ้นหลังจากคุณติดตั้งโปรแกรมหรือไดรเวอร์ที่ไม่สมบูรณ์ สามารถแก้ไขได้โดยการถอดถอน ส่วนที่ติดตั้งลงไปออกเสีย หรือบางครั้งก็อาจจะเกี่ยวข้องกับความผิดพลาดของฮาร์ดแวร์ก็ได้ ในกรณีที่มีการอ้างอุปกรณ์บางชิ้น ก็ให้ลองเปลี่ยนอุปกรณ์ตัวนั้นหรือถอดถอนออกอาจจะแก้ไขปัญหาได้
หรือบางทีก็อาจจะเกิดจากความไม่เข้ากันของไดรเวอร์และซิสเต็มส์เซอร์วิส (System Service) ของเซอร์วิสแพ็ค (Service Pack) ที่ได้ติดตั้งไว้ ให้ลองถอดถอน Third-party Device ก่อนการติดตั้งเซอร์วิสแพ็ค
Error Code : 0x0000009F
0x9F บ่งบอกว่าไดรเวอร์บางตัวทำงานไม่ปกติ มักเกิดในกรณีที่วินโดวส์ถูกสั่งให้กลับมาทำงาน หลังจากที่พักในโหมดสแตนบายด์ ซึ่งไดรเวอร์บางอย่างไม่สามารถกลับมาใช้งานได้ในโหมดปกติ เป็นต้น
ถ้าหากความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นหลังจากคุณติดตั้งโปรแกรมหรือไดรเวอร์ที่ไม่สมบูรณ์ลงไปก็สามารถแก้ไขได้โดยการถอดถอนโปรแกรมหรือไดรเวอร์ตัวดังกล่าวออกเสียก็ใช้ได้
Error Code : 0x000000ED
0x ED หมายความว่าเคอร์แนล (Kernel) พยายามเข้าไปเมาท์ Boot Volume แต่ไม่สามารถทำได้ ความผิดพลาดนี้มักจะเกิดขึ้นเมื่ออัพเกรดวินโดว์ ในเครื่องที่ไม่รองรับหรืออาจเกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสายเคเบิ้ลที่เชื่อมต่อฮาร์ดดิสก็เป็นไปได้ ถ้าคุณใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ ATA66 ขึ้นให้ลองเปลี่ยนจากสายสัญญาณแบบ 40 พิณไปเป็นแบบ 80 พินอาจช่วยแก้ปัญหาได้ นอกจากนี้ควรไปปรับค่าในไบออสของเมนบอร์ดให้ถูกต้องตรงกับชนิดของ ATA ที่ใช้ได้ด้วยอีกวิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาได้ก็คือ ให้ถอดถอนฮาร์ดดิสก์ตัวที่มีปัญหานำไปต่อกับเครื่องที่ใช้ Windows รุ่นเดียวกันแล้วสั่งให้ Scandisk ด้วยเครื่องมือในไดรฟ์พรอเพอร์ตี้ จากนั้นนำ กลับมาต่อที่เครื่องเดิมก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ
Error : 0xC0000221
0xC0000221 นี้บ่งบอกว่าปัญหาอาจเกิดจากไดรเวอร์ซิสเต็มส์ไฟล์ (driver system file) หรือ ดิสก์ (disk) เกิดความผิดพลาด เช่น เกิดความเสียหายของเพจจิงไฟล์ หรือเกิดความผิดพลาดของหน่วยความจำ เป็นต้น
วิธีแก้ปัญหานี้ก็แบบเดิม ๆ คือ หากเกิดปัญหาหลังจากติดตั้งไดรเวอร์ใหม่เข้าไป ให้ลองยกเลิกหรือกลับไปใช้ไดรเวอร์(driver ) ตัวเก่า คุณสามารถใช้เมนู Last known good cofiguration (กด F8 ก่อนเข้าวินโดวส์) เพื่อสั่งให้กลับมาสู่สภาวะปกติที่เคยใช้งานได้ หรือลองมองหาเซอร์วิสแพ็ค (Service Pack) หรือฮ็อตฟิกซ์(Hotfix) จากเว็บไซต์ของไมโครซอฟท์มาติดตั้งดูถ้าในความผิดพลาดได้บ่งบอกชื่อของไฟล์มาด้วยให้ลองก๊อบปี้ไฟล์ที่พึ่งได้มาใหม่จากแผ่นติดตั้ง Windows ทับแทนที่ไฟล์เดิมก็น่าจะแก้ปัญหานี้ได้
Error Code : 0x0000007A
0x7A แสดงถึงข้อมูลของเคอร์แนล(kernel (page of kernel data)) ไม่สามารถพบได้บนเวอร์ชวลเมโมรี (Virtual Memory) ทำให้ไฟล์ไม่สามารถอ่านไปสู่หน่วยความจำได้หรืออาจจะเกิดจาการที่ดิสก์หรือไดรฟ์คอนโทรลเลอร์(drive control) หรือเฟิร์มแวร์(firmware) หรืออุปกรณ์อื่นๆ ใช้งานได้ไม่สมบูรณ์
โดยทั่วๆไปแล้ว เราจำแนกแยกแยะรายละเอียดของเออเรอร์นี้ได้จากตัวแปลที่สองของเออเรอร์โค้ดยกตัวอย่างเช่น
• 0xC000009A หรือ STATUS_INSUFFICIENT_RESOURCES หมายความว่า ค่าของ non paged pool ไม่เพียงพอกับความต้องการ
• 0xC000009C หรือ STATUS_DEVICE_DATA_ERROR หมายความว่า มีการเรียกใช้งาน Bad Block หรือ Bad Sectors บนฮาร์ดดิสก์
• 0x000009D หรือ STATUS_DEVICE_NOT_CONNECTED หมายความว่า อุปกรณ์บางตัวที่ต้องการเข้าถึงนั้น หายไปจากระบบ น่าจะเป็นได้ว่าไฟไม่เข้า หรือสายเคเบิลที่เอาไว่ต่อกับคอนโทรลเลอร์มีปัญหา (สายหลุดน่ะแหละ) ลองตรวจสอบตรงนี้ดูนะครับ
• 0xC000016A หรือ STATUS_DISK_OPERATION_FAILED หมายความว่า มีการเรียกใช้งาน Bad Block หรือ Bad Sectors บนฮาร์ดดิสก์
• 0xC0000185 or STATUS_IO_DEVICE_ERROR หมายถึง เกิดปัญหากับอุปกรณ์ I/O ควรตรวจสอบจุดต่างๆ เช่น หัวเชื่อมต่อสายเคเบิล หรือถ้าใช้การ์ดคอนโทรลเลอร์ลองทำความสะอาดแล้วเสียบใหม่ หรือเป็นไปได้
ว่ามีอุปกรณ์ 2 ชิ้นกำลังแย่งกันใช้ทรัพยากรเดียวกันภายในเครื่องอยู่ ให้ลองถอด ตัวใดตัวหนึ่งออกก่อน
ความผิดพลาดในลักษณะนี้ส่วนมากเกิดจากการไปใช้งานเวอร์ชันเมโมรีบนส่วนที่เป็นแบดเซ็กเตอร์(bad sector) เข้าให้ หรืออาจจะเกิดจากความผิดพลาดของคอนโทรลเลอร์ หรือหน่วยความจำมีปัญหา ให้ลองแก้ไขโดยการรีบูตเครื่อง ถ้าคิดว่ามาจากปัญหาเรื่องเกี่ยวกับความเสียหายของฮาร์ดดิสก์ให้ลองใช้โปรแกรม “Autochk” เพื่อตรวจสอบ และระบุแบดเซ็กเตอร์
อีกกรณีหนึ่ง น่าจะมาจากการทำงานผิดพลาดหรือเกิดความเสียหายของหน่วยความจำที่มีอยู่ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยความจำหลัก , Cache L2 หรือหน่วยความจำของการ์ดแสดงผล ให้ลองเปลี่ยนหรือถอดอุปกรณ์ที่น่าจะมีปัญหาออก แล้วลองหาซอฟต์แวร์ diagnostics ตรวจสอบอีกที
ให้ลองตรวจสอบเพื่ออัพเดตเฟิร์มแวร์หรือไดรเวอร์ของอุปกรณ์ประเภทดิสก์คอนโทรลเลอร์ ซึ่งน่าจะเพิ่มความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ อีกทางหนึ่งให้ลองตรวจสอบกับคู่มือการตั้งค่าของอุปกรณ์ว่าตั้งค่าเหมาะสมหรือไม่ เช่น การตั้งค่า Transfer rate ของแรมที่ต่ำไปหรือสูงไปอาจจะมีผลกระทบกับระบบโดยรวมได้ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ อาจจะเกิดจากสิ่งสกปรกที่ติดอยู่ตามเมนบอร์ดและลายวงจร ให้ลองทำความสะอาดดูก็จะช่วยได้บ้าง
Error Code : 0x000000CE
0xCE บ่งบอกถึงการที่ความผิดพลาดที่ยกเลิกการใช้งานไดรเวอร์(driver) ตัวนั้น ปัญหานี้ไม่ค่อยหนักหนานักเนื่องจากจะมาเป็นเอาตอนที่จะเลิกใช้งานอยู่แล้ว ซึ่งความผิดพลาดนี้ได้แสดงขึ้นมาหมายความว่าไดรเวอร์และโปรแกรมนั้นๆ อาจจะมีปัญหาแนะนำให้ถอนการติดตั้งไดรเวอร์หรือโปรแกรมนั้นออก แล้วรีบูตเครื่องใหม่ (restart) อีกครั้ง
Error Code : Stop 0x000000D1
0xD1 บ่งบอกว่าระบบพยายามที่จะเข้าใช้งานเพจเอเบิ้ลเมมโมรี่ (pageable memory) ที่กำลังใช้งานด้วยเคอร์เนลโปรเซส (kernel process) ที่มี IRQL สูงมากเกินไป ทำให้ไดรเวอร์นั้น ๆ ไม่สามารถใช้งานได้แบบปกติได้ ส่วนมากมาจากไดรเวอร์ที่ไม่ค่อยสมบูรณ์นัก วิธีแก้ก็ทำได้โดยหากเพิ่งติดตั้งดีไวซ์ไดรเวอร์ใหม่ลงไป แล้วทำให้เกิดปัญหา ก็ให้ถอดออกไดรเวอร์ตัวดังกล่าวออก แล้วกลับไปใช้ตัวที่เสถียรจะดีกว่า
Error Code : 0x000000BE
0xBE บ่งบอกว่าไดรเวอร์บางตัว กำลังพยายามจะเขียนข้อมูลลงสู่หน่วยความจำที่อ่านได้อย่างเดียว ( ROM:Read-only Memory) ปัญหานี้ส่วนมากเกิดมาจากไดรเวอร์หรือโปรแกรมที่ไม่สมบูรณ์ แก้ไขได้ตามรายละเอียดที่แก้ไขกันบ่อยๆ คือ ให้ ถอนการติดตั้งออก แล้วกลับไปใช้ไดรเวอร์ตัวเก่า ในกรณีที่เป็นโปรแกรมหากต้องการใช้งานจริง ๆ อาจต้องติดต่อกลับไปยังผู้พัฒนา เพื่อขอวิธีแก้ไขจากผู้พัฒนาโดยตรงอีกที
Error Code : stop code 0X000000F2
stop code 0X000000F2 บ่งบอกให้รู้ว่า อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น USB หรือ SCSI controller จัดตำแหน่งกับ IRQ ผิดพลาด สาเหตุมักจะมาจากการลงไดร์ฟเวอร์หรือเฟิร์มแวร์ ที่ไม่สามารถเข้ากันได้ วิธีแก้ก็คล้าย ๆ เดิมคือนำไดร์ฟเวอร์ตัวที่ก่อให้เกิดปัญหาออกไปด้วยการ roll back ไดร์เวอร์ตัวเก่ามาใช้ หรือ หาไดร์เวอร์ที่ล่าสุดมาลง (กรณีที่มีใหม่กว่า) ถ้าเป็นพวก service ต่างๆ ที่เราเปิดก่อนเกิดปัญหาก็ให้ทำการปิด หรือ disable ซะ
Error Code : stop code 0X000000EA
stop code 0X000000EA บ่งบอกถึงเครื่องได้อยู่ในสภาวะการทำงานในแบบวนซ้ำ ๆ กันไม่สิ้นสุด เช่นจะรีสตาร์ทตลอดหรือไม่ก็แจ้ง error อะไรก็ได้ขึ้นมาไม่หยุดมักจะเกิดจาก Bug ของโปรแกรมหรือไม่ก็ระบบไฟฟ้าไม่เพียงพอกับความต้องการ หรือบางครั้งก็เกิดเกิดการชำรุดเสียหายจากฮาร์ดแวร์ เช่น เมนบอร์ดหรือการ์ดแสดงผล เป็นต้น
ความผิดพลาดนี้แก้ไขได้ดังนี้
สรุปปัญหา Blue Screen
ปัญหา Blue Screen นั้นส่วนมากนั้นจะเกิดจากการผิดพลาดของดีไวซ์ไดรเวอร์(device driver) หรือการทำงานผิดพลาดอันเนื่องจากมาจากไวรัส เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา Blue Screen ควรหมั่นแบ็กอัพค่าคอนฟิก (config) และค่ารีจิสทรี(registry) ของวินโดวส์อยู่เสมอ เครื่องมือที่ดีที่สุดก็คือ System Restore ดังนั้นถ้าคุณไม่แน่ใจเรื่องของระบบก่อนลงโปรแกรมหรือไดรเวอร์ใด ๆ ก็ตามให้คุณสั่ง System Restore เสียก่อน เผื่อว่าเกิดปัญหา Blue Screen คุณยังสามารถเข้าเซฟโหมดแล้วสั่งให้โรลแบ็กระบบกลับมาได้หรือในกรณีสุดท้ายที่หนักสุดคือ เกิดจากความผิดพลาดของฮาร์ดแวร์(Hardware) เช่น RAM เสื่อมสภาพ เพาเวอร์ซัพพลายหมดอายุ ฯลฯ ซึ่งอันนี้คงต้องอาศัยการเปลี่ยนอุปกรณ์เพียงอย่างเดียว แนะนำว่าควรลองถอดเปลี่ยนอุปกรณ์ต้องสงสัยกับเครื่องข้างเคียงก่อน เพื่อสืบหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงครับ และถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้เป็นผู้ซ่อมแซมเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านด้วยตัวเองก็ตามแต่ถ้าหากว่าคุณเข้าใจความหมายของ Error Code เหล่านี้ คุณก็สามารถบอกจุดที่เสียหายให้กับช่างผู้ทำการซ่อมบำรุงเครื่องคอมพิวเตอร์ของท่านได้ ซึ่งก็จะช่วยให้การซ่อมแซมนั้นเสร็จเร็วยิ่งขึ้นเพราะช่างไม่ต้องเสียเวลาหาสาเหตุของความผิดปกติเองทั้งหมด