การพัฒนาทักษะการเรียนรู้เป็นทีมในชั้นเรียน
นายวันชัย แก้วดี
ในสังคมยุคปัจจุบันนี้เป็นสังคมแห่งการแข่งขัน ซึ่งไม่อาจปฏิเสธกระแสความเจริญ เปลี่ยนแปลงในเรื่องการพัฒนาองค์การ ภายใต้อิทธิพลการเพิ่มศักยภาพทรัพยากรบุคคลและกลุ่มบุคคลไปสู่แนวคิดขององค์การเอื้อการเรียนรู้กระบวนทัศน์ของการพัฒนาจะต้องเริ่มในทุกระดับทั้งระดับบุคคล ระดับกลุ่มและระดับองค์การ โดยกรอบหลักการในการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติเน้นการเรียนรู้ เป็นการศึกษาตลอดชีวิตของประชาชนสังคมทุกส่วน ทั้งครอบครัว ชุมชน องค์กรภาครัฐและเอกชน องค์กรแห่งวิชาชีพ รวมทั้งสถานประกอบการและทุกๆ หน่วยในสังคม จะต้องเป็นผู้ร่วมมือในการสร้างและพัฒนาผลิตผลลัพธ์ทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดสำคัญ 5 ประการ ของ Senge ที่เน้นพลวัตรการถ่ายทอดความรู้ร่วมกัน ให้เกิดประสิทธิภาพเป็นทีมมีการกำหนดองค์คณะบุคคลหรือคณะกรรมการในระดับต่างๆ ทั้งระดับประเทศระดับพื้นที่และระดับสถานศึกษาเป็นกลยุทธ์การปฏิบัติ ซึ่งมีประเด็นที่ควรสร้างความเข้าใจชัดเจนใน 2 ส่วนคือ ทิศทางการปฏิรูปการศึกษาตลอดชีวิตและยุทธศาสตร์การทำงานในรูปองค์คณะบุคคลหรือทีมงาน
การเรียนรู้เป็นทีม(Team Learning ) เป็นวินัยหนึ่งของการสร้างองค์การเอื้อการเรียนรู้ สามารถสร้างคุณค่าของทีมงานให้เหนือคุณค่าของบุคคลโดยการนำความแตกต่าง ความเหมือนและศักยภาพของแต่ละคนในทีมนั้นมาผสมผสานกัน เพื่อเพิ่มพูนศักยภาพเหล่านี้ให้เกิดเป็นพลังที่หลากหลาย ทำให้การทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น การเรียนรู้เป็นทีมในระหว่างการทำงานร่วมกันช่วยสร้างความเชื่อ ค่านิยม เป้าหมายขององค์การ นอกจากนี้ยังเสริมสร้างบรรยากาศในการทำงานที่กระตุ้นให้ทุกคนในองค์การเห็นความสำคัญที่จะต้องมีการเรียนรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตนเองตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี ความรู้ ข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ และความต้องการทางสังคม
จากสภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนที่ไม่เอื้อให้นักศึกษาให้คิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาเป็น การเรียนการสอนมุ่งเน้นการท่องจำมากกว่าการเน้นให้ผู้เรียนได้คิด ได้ลงมือปฏิบัติ กระทำเอง ขาดการแสวงหาความรู้ ขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน อาจารย์และชุมชน สิ่งแวดล้อม เพราะการศึกษาเน้นการฟังบรรยายภายใต้กรอบอันจำกัดของห้องเรียน ทำให้เป็นตัวขัดขวางการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ขาดทักษะการติดต่อสื่อสารขาดมนุษยสัมพันธ์ ( คณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษา, 2543 : 3 ) การเรียนรู้เป็นทีมเป็นการใช้กระบวนการกลุ่ม ( group process ) สามารถช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะการติดต่อสื่อสารที่ดี รวมทั้งการสรางสัมพันธภาพระหว่างบุคคล สามารถทำให้เกิดความคิดอย่างมีวิจารณญาณ ( promote creative thinking ) พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา( problem solving ) และกระตุ้นให้ผู้เรียนมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง (active learning) ( Johnson, Carol and Faye,1997 ) ส่วน Gibson and Campbell (2000)ได้กล่าวถึงผลดีอีกประการหนึ่งของการทำงานเป็นทีมว่าเป็นการเรียนกลุ่มเล็กที่มีความผูกพัน มีปฏิสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ช่วยให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองในด้านการติดต่อสื่อสารและการมีมนุษยสัมพันธ์ ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเรียนรู้เป็นทีมนี้สามารถตอบสนองและสามารถแก้ปัญหาในเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่เน้นครูเป็นผู้ถ่ายทอดเนื้อหา รูปแบบการเรียนการสอนไม่ได้จัดกิจกรรมการเรียนที่หลากหลายและไม่เน้นปฏิบัติ ซึ่งการเรียนรู้เป็นทีมช่วยให้ผู้เรียนได้วางแผนค้นหาความรู้ พัฒนาความรู้ ความเข้าใจ ทักษะต่าง ๆ ที่ขาดหายไปหรือไม่มีได้จากกลุ่มเพื่อน โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้คอยให้ความสะดวก แนะนำ ชี้แนะ ในประเด็นที่ยังสับสนหรือไม่เข้าใจ Hughes & Townley ( 1994 ) อ้างใน วราภรณ์ ตระกูลสฤษดิ์ (2545) กล่าวว่าการเรียนรู้เป็นทีมนี้มีประโยชน์ต่อผู้เรียนในแง่สามารถนำมาปรับปรุงทัศนคติ และเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ แก่ผู้เรียนได้ดีในผู้เรียนทุกช่วงอายุ สามารถพัฒนาทำให้เกิดทักษะการแก้ไขปัญหา พัฒนา การทำงานเป็นทีม และพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้กับเพื่อน ๆ ได้อย่างดี
ทฤษฎีการศึกษาที่สามารถนำทักษะการเรียนรู้เป็นทีมมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนที่เป็นกลุ่มได้แก่ ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ทฤษฎีการเรียนรู้ร่วมกัน (Collaborative Learning) และทฤษฎีการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning) ซึ่งเป็นทฤษฎีการเรียนการสอนที่มีลักษณะส่งเสริมและสนับสนุน การทำกิจกรรมร่วมกันในลักษณะของทีม โดยจัดให้ผู้เรียนเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีมเล็กๆ ซึ่งจัดให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้ ผู้เรียนเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ ควบคุมการเรียนรู้และบทบาทในการช่วยเหลือซึ่งกันในการแสวงหาความรู้ มีการแบ่งปันทรัพยากรการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนภายในทีมและสร้างความสัมพันธ์ภายนอกทีมที่ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบุคคลต่าง ๆ ที่อยู่รอบข้างทีม
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมกัน (Collaborative Learning)การเรียนรู้ที่ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนร่วมกันในสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจ ซึ่งผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เน้นให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้จากชิ้นงาน ผู้เรียนต้องใช้ความรู้และประสบการณ์เรียนรู้ร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เน้นการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยกันถ่ายทอดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning) เป็นการเรียนรู้ที่เน้นการแบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม แต่ละกลุ่มมีจำนวนเท่า ๆ กัน ในระดับความสามารถที่แตกต่างกัน คือ เก่ง ปานกลาง และอ่อน ซึ่งการเรียนจะเน้นการมีปฏิสัมพันธ์กันในกลุ่มด้วยรูปแบบที่ครูกำหนด เช่น ผลัดกันพูด ระดมสมอง ร่วมกันคิด
จากทฤษฎีทั้ง 2 รูปแบบมีทั้งความแตกต่างและความเหมือนกันสิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองรูปแบบคือ มีการเรียนเป็นกลุ่มเล็ก การปฏิบัติงานเป็นกลุ่ม การค้นคว้าหาความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้ ส่วนความแตกต่างในเรื่องกระบวนการและแนวความคิด ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้แบบร่วมกัน เป็นการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดวิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนการเรียน การประเมินผล และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นการเรียนรู้โดยให้ผู้ที่มีความรู้แตกต่างกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดำเนินการเรียนการสอนตามที่ผู้สอนกำหนดไว้ ซึ่งในแต่ละรูปแบบจะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จากความแตกต่างของทฤษฎีการเรียนรู้ทั้ง 2 รูปแบบ จึงแนวคิดการนำทักษะการเรียนรู้เป็นทีมมาประยุกต์ใช้กับทฤษฎีการเรียนรู้ โดยวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและแบบร่วมมือ เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการประเมินผลงาน เปรียบเทียบลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมและประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีม รวมทั้งความพึงพอใจของผู้สอนและนักศึกษาที่มีต่อจากรูปแบบการเรียนรู้เป็นทีม ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์
1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกัน (Team Collaborative Learning) และการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ (Cooperative Learning) ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี
2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการประเมินผลงาน
3) เปรียบเทียบลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมก่อนเรียนและหลังเรียน
4) เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีม
5) เปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้สอนและนักศึกษาที่มีต่อการเรียนรู้เป็นทีม 2 รูปแบบ
กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ลงทะเบียนเรียนในรายวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2549 ของคณะครุศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่ามัชฌิมเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและทดสอบค่าที (t-test)
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ซึ่งผลการวิจัยมีดังนี้
1. พัฒนารูปแบบการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี
1.1 แผนกิจกรรมการเรียนรู้ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ คือ 1) สาระสำคัญ 2) จุดประสงค์การเรียนรู้ 3) เนื้อหาสาระ 4) กิจกรรมการเรียนการสอน 5) สื่อการเรียนการสอนและแหล่งเรียนรู้ 6) ผลงาน / ชิ้นงาน 7) การวัดและประเมินผล 8) กิจกรรมเสนอแนะเพิ่มเติม 9) ทักษะการเรียนรู้เป็นทีม ทั้งนี้ได้แบ่งการเรียนการสอนเป็น 3 สัปดาห์ และให้ผู้เรียนศึกษานอกเวลาเรียน 5 ชั่วโมง
1.2 การเรียนรู้เป็นทีมทั้ง 2 รูปแบบแบ่งการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนโดยแบ่งเป็น 5 ขั้นตอน คือ 1) ขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน 2)ขั้นเตรียมงานวิชาการ 3) ขั้นลงมือปฏิบัติงาน 4) ขั้นนำเสนอผลงาน 5) ขั้นสรุปผลงานและการประเมินผล
2. การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากการประเมินผลงานจากการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา พบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนอยู่ในระดับดี และมีค่าเฉลี่ยของคะแนนไม่แตกต่างกัน
3. เปรียบเทียบลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมก่อนเรียนและหลังเรียน จากการเรียนรู้เป็นทีมแต่ละรูปแบบการเรียนการสอนของกลุ่มตัวอย่าง พบว่าคะแนนลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
4. เปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีม จากการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา พบว่าประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีมไม่แตกต่างกัน
5. เปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้สอนและนักศึกษา ที่มีต่อการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา พบว่านักศึกษาและผู้สอนมีความพึงพอในรูปแบบการเรียนการสอนอยู่ในระดับดี และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนความพึงพอใจของกลุ่มตัวอย่างของ 2 กลุ่มไม่แตกต่างกัน ทั้งผู้สอนและนักศึกษา
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. ผู้สอนสามารถนำรูปแบบการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมกันและและการเรียนรู้เป็นทีมแบบร่วมมือ ในวิชาปฏิบัติการเทคโนโลยีการศึกษา คณะครุศาสตร์เทคโนโลยี โดยสามารถเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะสามารถทำให้เกิดการเรียนรู้เป็นทีม พัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมได้ไม่แตกต่างกัน
2. ผู้สอนจะต้องเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน กล่าวคือ ด้านตัวผู้เรียนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะและการเรียนรู้เป็นทีม มีการสร้างบรรยายแห่งการเรียนรู้ บรรยากาศแห่งประชาธิปไตย กระตุ้นผู้เรียนในแต่ละทีมมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันให้ได้มากที่สุด ในด้านการเตรียมแหล่งเรียนรู้ให้มีความเหมาะสม เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในการทำงาน การให้คำปรึกษาในเรื่องต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดของตนเองได้อย่างเต็ม
3. การพัฒนาทักษะการเรียนรู้และการทำงานเป็นทีม ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้นผู้สอนควรมีการสอนในรูปแบบการเรียนรู้เป็นทีมอย่างสม่ำเสมอ หรืออาจจะใช้เวลาในหนึ่งภาคเรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะมากขึ้น การฝึกให้เป็นนิสัยเพื่อให้ผู้เรียนได้นำทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการทำงานในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
1. พัฒนาและเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จากรูปแบบการเรียนการสอนที่มีทฤษฎีการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้เป็นกลุ่ม เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง
2. การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้เจาะจงกลุ่มตัวอย่างตามความร่วมมือจากอาจารย์ผู้สอน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงทั้งหมดโดยบังเอิญ ซึ่งในการวิจัยครั้งต่อไป อาจจะศึกษาผลการเรียนรู้เป็นทีมที่มีลักษณะกลุ่มตัวอย่างที่แตกต่างกันในเรื่อง เพศ อายุ ศาสนา ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเรียนรู้เป็นทีมได้
3. การประเมินลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมและประสิทธิภาพการทำงานเป็นทีม โดยใช้แบบวัดที่เป็นมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale) ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น ให้นักศึกษาประเมินตนเอง ซึ่งผลจาการวัดลักษณะการเรียนรู้เป็นทีมอาจเกิดจากการที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในขั้นนำเข้าสู่บทเรียน จึงควรมีแบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนในชั้นเรียนควบคู่กันไปด้วย
เอกสารอ้างอิง
คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ (2543) ปฏิรูปการเรียนรู้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ กรุงเทพ ฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
จันทร์พิมพ์ สายสมร (2547) ประมวลสาระรายวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการสอน หน่วยที่ 7พิมพ์ครั้งที่ 2 นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
บุปผชาติ ทัฬหิกรณ์ ( 2546 ) เทคโนโลยีสารสนเทศทางวิทยาศาสตร์ศึกษา. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
พัชรินทร์ ฮั่นพิพัฒน์ (2547) การนำเสนอรูปแบบการฝึกอบรมในงานเพื่อพัฒนาทักษะการ เรียนรู้เป็นทีม ตามแนวคิดการทำโครงการสำหรับนักเทคโนโลยีการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา วิทยานิพนธ์ ครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาโสตทัศนศึกษา ภาควิชาหลักสูตร การสอนและเทคโนโลยีการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วราภรณ์ ตระกูลสฤษดิ์ (2545) การนำเสนอรูปแบบการเรียนการสอนบนเว็บด้วยการเรียนรู้แบบโครงงาน เพื่อการเรียนรู้เป็นทีมของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี วิทยานิพนธ์ครุศาสตรมหาบัณฑิต ภาคโสตทัศนศึกษา สาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Senge, peter M.(1994) The Fifth Discipline: The Art and Practice of the Learning Organization. New York Doubleday/Currency,