นพเก้า ห่อนบุญเหิม
นักพัฒนาระบบราชการ 6ว
ความสำเร็จขององค์กรในปัจจุบันมิได้ขึ้นอยู่กับขั้นตอนในการผลิต (Production Process) และสินทรัพย์ประเภททุนด้านการเงิน (Financial Capital Assets) อีกต่อไป แต่ยังต้องอาศัยการสร้างคุณค่าจากสิ่งที่มองไม่เห็น (Invisible Values) หรือการสร้างคุณค่าจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Assets) หมายถึงสินทรัพย์ที่ไม่มีตัวตน ที่ใช้ในการดำเนินงานขององค์กร และก่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กร แต่จะแสดงรายการในงบดุลในหัวข้อ “สินทรัพย์อื่น”(ตามระบบบัญชีรูปแบบเดิม) ได้แก่ การสร้างภาพลักษณ์ให้เกิดกับสินค้าและบริการ (Brand Image) คุณภาพ (Quality) การสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดกับลูกค้า (Customer Relation Management) สิทธิบัตร (Patent) ลิขสิทธ์ (Copyrights) และการสร้างความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆเช่น พนักงาน ข้อมูล ความนึกคิดและจินตนาการ กระบวนการภายในขององค์กร วัฒนธรรมขององค์กร ทุนทางด้านความรู้ (Intellectual Capital) ตลอดจนสรรพกำลังในการสร้างสรรค์ให้เกิดนวัตกรรม เหล่านี้จัดได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดการสร้างคุณค่าแก่องค์กร และสามารถทำให้องค์กรนำแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ไปปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จได้อย่างแท้จริง
ผู้บริหารขององค์กร (CEO, CFO, CCO, CIO) ถือเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและบริหารจัดการให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างปัจจัยสำคัญกับกระบวนการบริหารจัดการสมัยใหม่ต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์กันและทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับองค์กรและมูลค่าเพิ่มเชิงเศรษฐกิจกลับไปยังผู้ถือหุ้น และที่สำคัญที่สุดคือการบริหารจัดการกับสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้(Intangible Assets)
Juergen H. Daum ได้อธิบายความสำคัญของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และการสร้างให้เกิดคุณค่ากับองค์กรในบริบทของเศรษฐกิจยุคใหม่ ที่เรียกว่า เศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนฐานของความรู้ (Knowledge Economy) ที่มุ่งเน้นความสำคัญในด้านการบริหารจัดการ การเรียนรู้และการพัฒนา (Learning and Growth) โดยผู้เขียนมุ่งเน้นทุนทางด้านทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital)ทุนทางด้านข้อมูลข่าวสาร (Information Capital) และทุนภายในองค์กร (Organization Capital)ได้แก่ วัฒนธรรมองค์กร ภาวะผู้นำ ความร่วมมือกับพันธมิตร และการทำงานเป็นทีม เป็นต้นเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญกับองค์กรต่าง ๆ ที่จะสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เกิดขึ้นในเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ (New World Order, New Economics)
นอกจากนี้ผู้เขียนได้สัมภาษณ์บุคคลที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ อาทิเช่น David P. Norton (ผู้เขียนร่วมกับ Robert S. Kaplan จากหนังสือชื่อ Balanced Scorecard Concept และ Strategy Maps), Leif Edvinsson (ผู้เขียนร่วมกับ Michael Malone จากหนังสือชื่อ Intellectual Capital ในปี 1997), Baruch Lev’s (ศาสตราจารย์ด้านการเงินและบัญชี New York University ผู้เขียนหนังสือชื่อ Value Chain Blueprint และนักวิจัยเรื่องของ Intangible Assets)
เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้แบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยเนื้อหาที่เป็นหัวใจหลักอยู่ที่ส่วนที่ 1 และ 2 โดยส่วนที่ 1 อธิบายว่า ทำไมสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้จึงเป็นปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจยุคใหม่ และปัจจัยแห่งความสำเร็จต่าง ๆ ที่องค์กรยุคใหม่จะต้องให้ความสำคัญ ส่วนที่ 2 อธิบายปัจจัยในเรื่องของการเปิดกว้างในการเรียนรู้และการพัฒนาขององค์กร ตลอดจนการสร้างให้เกิดคุณค่าขององค์กรสมัยใหม่ที่มีโครงสร้างการจัดการแบบ e-business network ส่วนที่ 3มุ่งเน้นเรื่องระบบการบัญชี การควบคุม การติดตามวัดผลการดำเนินงานขององค์การ โดยกล่าวถึงเทคนิควิธีการสำคัญ ๆ เช่น การทำให้เกิดคุณค่าใหม่กับองค์กร จะต้องอาศัยเทคนิคการบริหารจัดการแนวใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน การออกแบบและองค์ประกอบต่างๆ ของระบบการบริหารจัดการแนวใหม่ระบบการเงินการบัญชีแนวใหม่ ตลอดจนแนวคิด หลักการและกระบวนการของระบบบริหารจัดการแนวใหม่ บทบาทใหม่ของผู้บริหารในการนำเทคนิคและกระบวนการของระบบดังกล่าวมาปฏิบัติกับองค์กรให้เกิดผลจริง ในส่วนสุดท้าย (Epilogue) ผู้เขียนบรรยายสรุปถึงความมั่งคั่งหรือความเจริญรุ่งเรืองในระดับ Macro ของประเทศในระบบเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดจากการสร้างคุณค่าจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้และองค์กรแห่งความรู้ (Knowledge and Intangible Asset-based Economy)
Download : การสร้างคุณค่าจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ 1 (Intangible Assets and Value Creation)
Download : การสร้างคุณค่าจากสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ 2 (Intangible Assets and Value Creation)